สารคดีประวัติศาสตร์ (เขียนแผ่นดิน)
เรื่อง ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ “ทุ่งมะขามหย่อง” จารึกวีรกษัตรีย์ศรีสุริโยทัย
โดย กลุ่มไทยสารคดี
เวลา 30 นาที
ภาพ
|
เสียง
|
LS ป้ายพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย
LS ทางเข้าพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย
MS พิธีกรหันหน้าคุยกับกล้อง
ELS ภาพอนุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัยระยะไกล
De-Focus ภาพสมเด็จพระศรีสุริโยทัยกำลังสู้รบกับข้าศึก
|
(เพลง อยุธยารำลึก)
(เพลง อยุธยารำลึก Fade in)
บรรยาย
สวัสดีครับท่านผู้ชมที่เคารพ เข้าสู่รายการเขียนแผ่นดิน รายการที่นำเสนอเรื่องราวสาระที่เป็นความทรงจำของคนในชาติถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังหวนรำลึกอีกครั้ง ในวันนี้ทางรายการขอนำเสนอในตอน ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ “ทุ่งมะขามหย่อง” จารึกวีรกษัตรีย์ศรีสุริโยทัย อนุสรณ์แห่งความกล้าหาญแม้ร่างกายจะเป็นหญิง แต่มีหัวใจเด็ดเดี่ยวไม่แพ้ผู้ชาย ยอมพลีเลือดเนื้อทาทาบเพื่อปกป้องสยามประเทศให้รอดพ้นอริราชศัตรู
(เพลง อยุธยารำลึก/เสียงเดิน Fade out)
(เสียงข้าศึกรบกัน)
ครับ สำหรับพื้นที่บริเวณ “ทุ่งมะขามหย่อง” นั้น ถือว่าเป็นพื้นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์พระศรีสุริโยทัย ผู้เป็นพระอัยกีแห่งมหาราชของไทย นามสมเด็จพระนเรศวร ผู้ทรงประกาศชัยชนะกู้แผ่นดินอโยธยาเหนือชาวพม่ารามัญศัตรูผู้เป็นเสมือนหอกข้างแคร่คอยทิ่มแทงย่ำยีชาวสยามเรื่อยมา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อครั้งอดีต “ทุ่งมะขามหย่อง” แห่งนี้ เป็นบริเวณสมรภูมิที่เหล่าวีรกษัตริย์ บรรพชนผู้กล้า ยืนหยัดต่อสู้เอาเลือดเนื้อทาทาบแผ่นดินหวังเพียงหนึ่งเดียวให้อาณาจักรของสยามประเทศเป็นปึกแผ่นให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยจนชั่วลูกชั่วหลาน และศึกที่สำคัญที่จารึกและมีอนุสรณ์จนถึงบัดนี้ คือ เมื่อครั้งที่กองทัพไทยปะทะกับทัพพม่าในศึกที่พระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
|
PKG ภาพจำลองประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา
MS ภาพพระเจ้าตะเบงชะเวตี้นั่งบัลลังค์กรุงหงสาวดี
MS ภาพพระเจ้าตะเบงชะเวตี้นั่งบนช้างศึก เพื่อออกรบ
MS ภาพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์และสมเด็จพระศรีสุริโยทัยจัดทัพเตรียมรับข้าศึก
|
บทบรรยาย
พุทธศักราช 2091 เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ผ่านพิภพเหนือแผ่นดินอโยธยาได้เพียง 7 เดือน พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ (มังตรา) หรือพระเจ้ากรุงหงสาวดีลิ้นดำ เสด็จกรีธาทัพบุกตะลุยเข้ามาในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาและตั้งทัพมั่นคงที่ตำบลลุมพลีใกล้ชานพระนครศรีอยุธยา หวังพิชิตศึกล้างอาย เผยแพร่พระเกียรติยศให้ปรากฏไปทั่วดินแดนไทย
ส่วนฟากกรุงอโยธยามีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงเป็นจอมทัพหวังให้ไพร่พลมีขวัญกำลังใจและปกป้องขอบเขตขัณฑสีมาให้พ้นมือไพรี การนี้สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเอกอัครมเหสีทรงห่วงเกรงพระราช-สวามีจะมีภัย หากเป็นเช่นนั้นอโยธยาคงมิพ้นพินาศจึงขอตามเสด็จไปในการศึกครั้งนี้ด้วย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ได้ทรงท้วงติง สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเป็นหลายครั้งหลายหนว่าการโดยเสด็จออกสู่สนามยุทธนั้น มากไปด้วยภยันตรายร้ายแรงรอบด้าน แต่พระศรีสุริโยทัยเอกอัครมเหสีแกล่นแกล้ว และจงรักภักดีต่อพระราชสวามียิ่งสิ่งใด ยังคงทูลยืนกรานในอันที่จะโดยเสด็จออกสู่สนามยุทธอยู่อย่างเด็ดเดี่ยว และทรงเครื่องพิชัยยุทธเยี่ยงบุรุษชาติอาชาไนย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงมิอาจทรงทัดทานประการใดได้
|
PKG ภาพจำลองประวัติศาสตร์บริเวณทุ่งมะขามหย่อง
MS ภาพข้าศึกทั้งสองฝ่ายเริ่มรบกันอย่างมิกลัวตาย
MS ภาพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีแก่พระเจ้า
แปร
MS ภาพสมเด็จพระสุริโยทัยทรงเข้าขวางพระเจ้าแปรและถูกฟันด้วยของ้าวจนสิ้นพระชนม์
|
บทบรรยาย
พอทัพไทยเคลื่อนกระบวนไปถึงกองทัพม้าภายใต้การนำของบุเรงนองยอดขุนศึกพม่า ก็ยกออกจากที่ซุ่มเข้าทำการโจมตีทันทีทัพม้าอโยธยาก็เข้าต่อยุทธด้วย และรุกกระหน่ำเอาอย่างได้เชิง ทัพพม่าก็ถอยล่อให้ไทยระเริงใจไปตามแผนกลศึกทัพหลวงใต้บัญชาการของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ก็ทรงเคลื่อนกระบวนหนุนเนื่องตามตีอย่างไม่รอรั้ง
พระเจ้าแปรกองหน้าเผชิญศึกก็นำทัพออกปะทะทัพกรุงศรีอยุธยาไว้ ไม่ยอมให้ทัพไทยหนุนกองทัพม้าไปได้ การต่อสู้จึงเกิดขึ้นอย่างยอมพลีชีวิตให้แก่ปิตุชาติมาตุภูมิของตน
(SB เสียงปืนใหญ่ เสียงปืน เสียงระเบิด)
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงไสช้างพระที่นั่งเข้ากระทำการยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรเยี่ยงวีกษัตริย์ชาตินักรบ ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสียเชิงช้างพระเจ้าแปร ถึงแก่เบนช้างให้ สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงเห็นพระราชสวามีใกล้อันตรายต่อคมพระแสงของ้าวของพระเจ้าแปร ก็ทรงไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรไว้ ประจวบกับพระเจ้าแปรทรงฟาดพระแสงของ้าวมายามได้เชิง สมเด็จพระศรีสุริโยทัยถูกพระเจ้าแปรฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสาตรงพระอุระเบื้องพระยุคลถันถึงขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์บนคอช้างท่ามกลางข้าศึก พระราเมศวรกับพระมหินทร์ราชโอรสต่างขับช้างเข้ากันพระศพสมเด็จพระราชชนนีไว้ การศึกไม่มีแพ้ชนะแก่กันจึงต่างถอยทัพในวันนั้น นี่จึงเห็นได้ว่าแม้องค์สุริโยทัยจะเป็นหญิงที่อยู่ในราชสำนักชั้นสูงรั้งตำแหน่งอัครมเหสีแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา แต่พระองค์หาได้ทรงหวาดกลัวข้าศึกไม่ เลือดแห่งขัตติยะนารีเปี่ยมล้น ทรงแลกพระชนชีพเสี่ยงพระวรกายต่อคมอาวุธยอมแลกเพื่อองค์ราชันย์ผู้เป็นขวัญกำลังใจของประชาราษฎร์ให้อยู่สืบไป ศึกครั้งนี้ทำให้กษัตริย์รามัญพม่าตระหนักว่าคนไทยนั้นรักชาติยิ่งชีพต่อสู้โดยไม่เสียดายชีวิต แม้จะเป็นเพศหญิงที่อ่อนแอกว่า จึงยอมล่าถอยทัพกลับหงสาวดี แต่ทั้งนี้ทำให้คนไทยเสียปิ่นอนงค์แห่งกรุงศรีอยุธยาอย่างไม่มีวันกลับ สร้างความโทมนัสต่อปวงไทยทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ส่วนบริเวณที่สู้รบก็คือบริเวณทุ่งมะขามหย่องนั้นเอง และด้วยเหตุที่ “ทุ่งมะขามหย่อง” จึงเป็นสมรภูมิที่จารึกความกล้าหาญของวีรกษัตรีย์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง
(Fade in/out เพลงสยามานุสติ)
|
MS พิธีกรยืนพูด มีฉากหลังเป็นภาพ CU พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัยระยะใกล้
MS ภาพพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัยมุมต่าง ๆ
MS ภาพทัศนียภาพโดยรอบของอ่างเก็บน้ำ
|
บทพูด
สำหรับอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยนั้น ภายในมีพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัยหล่อด้วยสำริด มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งขององค์จริงประทับบนหลังพระคชาธาร พร้อมด้วยกลุ่มอนุสาวรีย์ประติมากรรมประกอบกันทั้งสิ้น 49 ชิ้น และมีประติมากรรมจำลองประวัติศาสตร์เป็นพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย วีรกษัตรีย์ไทยสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ มีลักษณะเป็นอนุสรณ์สถาน ประกอบด้วยพระราชานุสาวรีย์ช้างทรงของสมเด็จพระสุริโยทัย มีนักรบจาตุรงคบาทพรั่งพร้อมด้วยเครื่องทรงบนคชาธารศึกครบครัน หล่อปั้นได้อย่างประหนึ่งมีชีวิตที่คอยปกป้องลูกหลานให้พ้นภัยพาลเรื่อยมา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ พื้นที่จำลองค่ายข้าศึกอริราชศัตรูและกองทัพข้าศึก 4 ทัพ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำมีเนื้อที่ราว 180 ไร่ จุน้ำราว 1,000,000 ลูกบาศก์เมตร อาคารอเนกประสงค์ และสวนสาธารณะริมอ่างเก็บน้ำ ที่ทางราชการได้จัดทัศนียภาพให้ผู้ชมได้พักผ่อนอย่างสวยงาม
|
LS ภาพพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัยในหลาย ๆ มุมและภาพประชาชนทั่วไปที่มาท่องเที่ยว
MS ภาพพิธีกรภาพ CU พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัยระยะใกล้
MS ภาพพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัยมุมต่าง ๆ
|
บรรบาย
ปัจจุบันบริเวณ “ทุ่งมะขามหย่อง” จัดว่าเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน พร้อมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อสำหรับใช้ในการเกษตร ซึ่งในวันนี้ทุ่งมะขามหย่องก็ได้เป็นดังทุ่งทองที่รองรับความเดือดร้อนของประชาชนจากกระแสน้ำ อันเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้จากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อาจกล่าวได้ว่าทุ่งมะขามหย่องเมื่อครั้งกาลอดีตนั้นเป็นที่รองรับน้ำเลือด น้ำเหงื่อ และน้ำใจอันรักชาติของบรรพชนผู้กล้าที่ยอมพลีชีวิตเพื่อปกบ้านป้องเมือง ยอมพลีร่างกายเพื่อทับถมให้แผ่นดินสูงขึ้นหวังให้ลูกหลานได้ยืดกายอยู่อาศัย สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ก็ยังเป็นที่รองรับน้ำเหนือที่ไหลบ่าท่วมให้ชนทนทุกข์ แต่ยิ่งกว่านั้นเป็นที่รองรับกักเก็บน้ำพระราชหฤทัยที่คอยหล่อเลี้ยงให้ชนชาวไทยมีความสุข นับได้ว่าทุ่งมะขามหย่องมิเคยสิ้นคุณ คอยตอบแทนประชาชนเรื่อยมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และอาจสืบจนถึงกาลเบื้องหน้า สำหรับรายการเขียนแผ่นดินวันนี้ลาท่านผู้ชมไปก่อน พบกันใหม่โอกาสหน้าสวัสดีครับ
(Fade in/out เพลงอยุธยา)
|
ผู้จัดทำ
นางสาวภัคฐิชา ทยานศิลป์ รหัส ๕๒๑๑๒๕๒๐๐๐๕
นางสาวสุพัชรี พัดลม รหัส ๕๒๑๑๒๕๒๐๐๑๔
นายกฤษ คล้ายแก้ว รหัส ๕๒๑๑๒๕๒๐๐๒๓
นายชัยภัทร บุรีรักษ์ รหัส ๕๒๑๑๒๕๒๐๐๒๗
นางสาวนิพา จันทร์ดารา รหัส ๕๒๑๑๒๕๒๐๐๒๘
นางสาวมารยาท สกุลเต็ม รหัส ๕๒๑๑๒๕๒๐๐๖๖