วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

๒๐ ปีที่ลาล่วง พุ่มพวง ดวงจันทร์

   
๒๐ ปีที่ลาล่วง พุ่มพวง ดวงจันทร์
 ประวัติ พุ่มพวง ดวงจันทร์
“ไม่เด่นไม่ดังจะไม่หันหลังกลับไป ทุกวันคืนนอนร้องไห้อีกเมื่อไหร่จะได้ดี เมื่อสุริยนย่ำสนธยา จะกลับบ้านนาตอนชื่อเสียงเรามี”ท่อนหนึ่งของบทเพลง “นักร้องบ้านนอก”ของราชินีลูกทุ่ง “พุ่มพวง ดวงจันทร์”ผู้ลาลับ ที่เมื่อครั้งหนึ่งคือปณิธานอันแรงกล้าของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ปีนป่ายฟันฝ่าอุปสรรคจนถึงจุดสูงสุดที่วาดหวัง เพื่อไขว้คว้าหอบหิ้วความตั้งใจกลับบ้านนา จนกลายเป็นตำนานของการต่อสู้ชีวิต แต่ถึง ณ ตอนนี้เหลือเพียงนาม ทิ้งความอาลัยห่วงหาของแฟนเพลง ทิ้งบทเพลงหวานซึ้งไว้เบื้องหลัง ทิ้งอนุสรณ์แห่งชีวิตของการต่อสู้ ดิ้นรน เพื่อ... ทุกอย่างอันเป็นที่รัก จนกระทั่งทิ้งลมหายใจ
หากย้อนกลับไปเมื่อ ๕๑ ปีก่อนหน้านี้เป็นจุดเริ่มต้นของผู้หญิงคนละร่างกายให้จารึกไว้ในแผ่นดินขวานทองแห่งนี้หนึ่งที่ลืมตาดูโลก โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้เลยว่าชีวิตเธอหลังจากนี้จะเกิดอันใดขึ้นบ้าง พุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องเพลงลูกทุ่ง เจ้าของฉายา “ราชินีลูกทุ่ง” ที่ได้ชื่อว่ามีน้ำเสียงออดอ้อน หวาน จดจำเนื้อร้องของบทเพลงต่าง ๆได้อย่างแม่นยำ ทั้งที่ไม่รู้ว่าการอ่านคืออะไร เพียงใช้อัจฉริยะด้านการฟังเท่านั้นในการร้องเพลง และเป็นแม่แบบให้กับนักร้องรุ่นหลังเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

พุ่มพวง ดวงจันทร์ ชื่อเล่น ผึ้ง หรือชื่อจริง รำพึง จิตรหาญ เกิดที่ บ้านหนองนกเขา ตำบลไพรนกยูง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท มาเติบโตที่ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นบุตรีของนายสำราญ และนางเล็ก จิตรหาญ ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย เกิดในครอบครัวที่ยากจน เป็นลูกคนที่ ๕ ของบ้านในจำนวนพี่น้อง ๑๒ คน
สถานภาพครอบครัวของเธอจัดอยู่ในขั้นที่ยากจนมาก เธอเรียนที่โรงเรียนบ้านดอนตำลึง แต่ด้วยความที่เธอมีน้องอีก ๖ คน ประกอบกับค่านิยมของแม่นั้นเห็นว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนมาก เธอไม่จบแม้แต่ชั้น ป.๒ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ยามวัยเด็กพอน้องหลับหมด เธอไปหาบของขาย เก็บผัก หาดอกไม้ป่า หาบไปขายตามโรงงาน เรียกได้ว่าหาเช้าเพื่อไว้กินค่ำโดยแท้
รำพึง ชื่นชอบการร้องเพลงลูกทุ่งตั้งแต่เด็ก ถึงแม้ว่าเธอจะอ่านหนังสือไม่ออกแต่ก็มีความจำดีเยี่ยม เธอเริ่มหัดร้องเพลงและเข้าประกวดตามงานต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ ๘ ปี โดยใช้ชื่อว่า น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย เธอเดินสายเข้าประกวดล่ารางวัลไปทั่วที่ไหนมีการแข่งขันประกวดร้องเพลงเป็นต้องมีรำพึง จิตรหาญร่วมประกวดด้วยเสมอ ตั้งแต่อำเภอศรีประจันต์ บางปลาม้า แล้วข้ามจังหวัดไปถึงอำเภอเสนา ผักไห่ มหาราช วิเศษชัยชาญ บ้านแพรก หนองโดน พระพุทธบาท สระบุรี และในเวลาต่อมาอยู่กับวงดนตรีที่กรุงเทพฯ กับ ดวง อนุชา ตั้งแต่อายุประมาณ ๑๐ ขวบ แต่ก็ยังไม่ได้เป็นนักร้องอาชีพจึงกลับบ้านอำเภอสองพี่น้อง
ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ปัจจุบันเป็นศิลปินแห่งชาติ นำวงดนตรีมาแสดงที่วัดทับกระดาน เธอได้ร่วมร้องเพลงและแสดงความสามารถจนครูไวพจน์เห็นความสามารถ เกิดความเมตตา จึงรับเป็นบุตรบุญธรรมและพาไปอยู่กรุงเทพฯ เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นหางเครื่องและนักร้องพลาง ๆ ก่อนที่ไวพจน์ จะแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกให้ ชื่อเพลง แก้วรอพี่ เพลงแต่งแก้กับเพลง "แก้วจ๋า"โดยใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ ซึ่งจากการอยู่ในวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ ทำให้เธอสนิทสนมกับธีระพล แสนสุข จนเกิดเป็นความรักขึ้นมา แต่กฎของครูไวพจน์ห้ามสมาชิกในวงรักใคร่เชิงชู้สาว ทำให้ต้องแยกออกจากวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ มาเริ่มงานกับศรเพชร ศรสุพรรณ โดยทำงานเป็นทั้งหางเครื่องและนักร้องในวง และย้ายมาอยู่กับขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด

ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ครูเพลงลูกทุ่งชื่อดัง มนต์ เมืองเหนือ รับเป็นลูกศิษย์ และเปลี่ยนชื่อจากน้ำผึ้ง เมืองสุพรรณเป็น "พุ่มพวง ดวงจันทร์"จากการตั้งชื่อโดย มนต์ เมืองเหนือ และได้บันทึกเสียงจากการแต่งของก้อง กาจกำแหง ร้องแก้ขวัญชัย เพลงนั้นคือ "รักไม่อันตรายและรำพึง"และตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง โดยการสนับสนุนของคารม คมคาย นักจัดรายการวิทยุ มนต์ เมืองเหนือแต่ไม่ประสบความสำเร็จก็มาสังกัดบริษัทเสกสรรเทป-แผ่นเสียงผลงานของพุ่มพวง ดวงจันทร์เริ่มประสบความสำเร็จในเวลาต่อมาหลังจากได้รับการสนับสนุนจากประจวบ จำปาทองและปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ให้ตั้งวงร่วมกับเสรี รุ่งสว่าง ในชื่อวง เสรี-พุ่มพวง จากจุดนี้ก็ได้รับความสำเร็จขึ้น หลังจากนั้นเธอก็มีผลงานต่อมาอีกมากมาย
พ.ศ. ๒๕๒๑ พุ่มพวงได้รับรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จากเพลง อกสาวเหนือสะอื้น    นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้ร้องเพลง "ส้มตำ"พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
นอกเหนือจากการร้องเพลงแล้ว พุ่มพวงเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ และแสดงหนังเรื่องแรก สงครามเพลง สร้างโดยฉลอง ภักดีวิจิตร และอีกหลายเรื่องตามมาแต่พุ่มพวงก็ยังไม่ทิ้งอาชีพนักร้องโดยสิ้นเชิง จนในปี พ.ศ.๒๕๒๗"พุ่มพวง"ได้จดทะเบียนสมรสกับ "ไกรสร แสงอนันต์"และมีบุตรชาย คน ชื่อ "สันติภาพ"ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "สรภพ"หรือน้องเพชร ลีละเมฆินทร์ ส่วน "ธีระพล"ถูกน้องชายของพุ่มพวงยิงเสียชีวิต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐

ชีวิตด้านการแสดงของผึ้งน้อย ที่เติบใหญ่กลายเป็นนางพญาผึ้ง นับวันยิ่งสร้างรวงรังใหญ่โตค่อยโอบล้อม จุนเจือผู้มีพระคุณ และบุคคลอันเป็นที่รักตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๒ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกครั้ง ในสาขารางวัลขับร้องเพลงดีเด่น กับเพลง "สยามเมืองยิ้ม"ประพันธ์โดยครูลพ บุรีรัตน์ ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง นับเป็นรางวัลด้านการแสดงที่ยิ่งใหญ่ให้พุ่มพวงได้เทิดทูลเหนือหัวใจตลอดมา
แต่ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่จีรังยั้งยืน ทุกอย่างมีเกิด มีดับ ตามกาลเวลา นอกจากความรุ่งโรจน์ด้านการร้องเพลง ที่เป็นดังชีวิตและความปรารถนาของพุ่มพวงแล้ว ที่นับวันจะพุ่งขึ้นอย่างไม่มีสิ้นสุดแต่ชีวิตครอบครัวกลับสวนทางลงมีข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า พุ่มพวงทะเลาะกับสามี และยิ่งร้ายไปกว่านั้นป่วยเป็นโรคไตขั้นรุนแรง จนต้องเข้าโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถเบิกเงินจากธนาคารเพื่อมารักษาตัวเองได้ (ซึ่งมีอยู่ ๖ ล้านบาท) สมุดบัญชีอยู่กับไกรสร (สามี) ที่เชียงใหม่ เธอจึงตัดสินใจสั่งอายัดเงินทั้งหมด ต่อมาในวันที่ ๒๐ มีนาคม เธอเดินทางจากเชียงใหม่ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตากสิน จันทบุรี และย้ายไปที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ตรวจพบว่าเธอป่วยด้วยโรคเอสแอลอีหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง อาการขั้นรุนแรง ลุกลามถึงไต ทางด้านไกรสรออกมายอมรับว่ามีปัญหาครอบครัวจริง ต่อมาแพทย์เจ้าของไข้เปิดเผยว่าพุ่มพวงอาการดีขึ้น ทางด้านญาติของพุ่มพวงมีความเห็นว่าควรรักษาด้วยไสยศาสตร์ เนื่องจากเชื่อว่าถูกปองร้ายด้วยไสยศาสตร์ด้วยวิธีการคุณไสย ต่อมาวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.  ๒๕๓๕  เดินทางออกจากโรงพยาบาลศิริราชเพื่อไปรักษาด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ ไปจังหวัดพิษณุโลกโดยเดินทางด้วยรถตู้ แต่หลังจากกราบไหว้พระพุทธชินราช เมื่อเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. ก็เกิดอาการช็อกและหมดสติ ญาตินำส่งโรงพยาบาลพุทธชินราช กระทั่งถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อเวลา ๒๐.๕๕ น.
ปิดฉากราชินีลูกทุ่งที่ชีวิตมีทั้งความสุข ความเศร้า ความรัก ความแค้น ศพของพุ่มพวงได้สวดอภิธรรมศพที่วัดมกุฏกษัตริยาราม พิธีพระราชทานเพลิงศพของพุ่มพวง ดวงจันทร์ จัดที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ มิ.ย. พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธี นอกจากนี้ยังมีการสร้างหุ่นพุ่มพวง ตั้งอยู่ในศาลาริมสระน้ำ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีการจัดงานรำลึกถึงพุ่มพวงทุกปี ช่วงวันที่ ๑๓-๑๕ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของเธอ
ด้านผลงาน
การร้องเพลง
·         ตั๊กแตนผูกโบว์
·         หม้ายขันหมาก
·         อื้อฮือหล่อจัง
·         สาวนาสั่งแฟน
·         ดาวเรืองดาวโรย
·         อายแสงนีออน
·         นักร้องบ้านนอก
·         บทเรียนราคาแพง
·         หม้ายขันหมาก
·         ส้มตำ
·         เพลงรักบ้านทุ่ง
·         ฯลฯ
แสดงภาพยนตร์
·         พ.ศ. ๒๕๒๖ สงครามเพลง (คู่กับ ยอดรัก สลักใจ)
·         พ.ศ. ๒๕๒๖ ผ่าโลกบันเทิง
·         พ.ศ. ๒๕๒๖ รอยไม้เรียว (คู่กับ ทูน หิรัญทรัพย์)
·         พ.ศ. ๒๕๒๖ หลงเสียงนาง
·         พ.ศ. ๒๕๒๗ มนต์รักนักเพลง
·         พ.ศ. ๒๕๒๗ คุณนาย ป.๔
·         พ.ศ. ๒๕๒๗ ชี (คู่กับสรพงษ์ ชาตรี)
·         พ.ศ. ๒๕๒๗ นางสาวกะทิสด
·         พ.ศ. ๒๕๒๗ สาวนาสั่งแฟน (คู่กับ ยอดรัก สลักใจ)
·         พ.ศ. ๒๕๒๗ อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง
·         พ.ศ. ๒๕๒๗ อีแต๋น ไอเลิฟยู (คู่กับ ยอดรัก สลักใจ)
·         พ.ศ. ๒๕๒๗ จงอางผงาด
·         พ.ศ. ๒๕๒๘ ที่รัก เธออยู่ไหน
·         พ.ศ. ๒๕๒๙ มือปืนคนใหม่
·         พ.ศ. ๒๕๓๐ เสน่ห์นักร้อง (แสดงร่วมกับ ยอดรัก สลักใจ และ สายัณห์ สัญญา)
·         พ.ศ. ๒๕๓๐ เชลยรัก
·         พ.ศ. ๒๕๓๐ เพลงรัก เพลงปืน (คู่กับ ยอดรัก สลักใจ)
·         พ.ศ. ๒๕๓๑ เพชรพยัคฆราช
แสดงละครโทรทัศน์
·         พ.ศ. ๒๕๓๒ นางสาวยี่ส่าย
รางวัล
·         รางวัลเสาอากาศทองคำทองคำ เพลง "อกสาวเหนือสะอื้น" (ผลงาน - ธีระพล แสนสุข) (๒๕๒๑)
·        รางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๑ เพลง "สาวนาสั่งแฟน" ( ผลงาน - วิเชียร คำเจริญ) (๒๕๓๒)
·        รางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๒ เพลง "สยามเมืองยิ้ม" (วิเชียร คำเจริญ) (๒๕๓๔)
·        ยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็น "ปริยศิลปิน"ศิลปินอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๒
นับว่าเป็นเวลากว่ายี่สิบปีแล้วที่พุ่มพวง ดวงจันทร์จากโลกนี้ไปเหลือไว้แต่เพียงชื่อและบทเพลงที่ไม่มีวันตาย แต่ยังคงใช้เป็นแม่แบบและถูกกล่าวขานตลอดมา ถึงการต่อสู่ดิ้นรน การอดทนฟันฝ่าอุปสรรค การสมหวังเรื่องการร้องเพลง แม้กระทั่งผิดหวังเรื่องรัก ชีวิตนี้ย่อมสร้างให้สิ่งที่ดีและไม่ดีเกิดมาคู่กันเสมอ คนเราต่างหากที่จะยอมรับมันได้หรือไม่ พุ่มพวงก็เป็นเสมือนบทเรียนชีวิตเล่มหนึ่งที่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ถึงอย่างไรก็ตามพุ่มพวง ยังคงเป็นจิตวิญญาณของเพลงลูกทุ่งที่อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ตลอดมาและตลอดไป
“แม้กาลเวลาจะเดินไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้ง แต่ก็ยังไม่มีสิ่งใดมาแทนที่ หรือลบล้าง ราชินีลูกทุ่ง คนนี้ไปได้เลย”

 
จัดทำโดย
นางสาวภัคฐิชา  ทยานศิลป์   52112520005
นางสาวสุพัชรี   พัดลม           52112520014
นายกฤษ            คล้ายแก้ว      52112520023
นายชัยภัทร        บุรีรักษ์         52112520027
นางสาวนิพา      จันทร์ดารา   52112520028
นางสาวมารยาท สกุลเต็ม     52112520066
   

1 ความคิดเห็น:

  1. ครับ เป็นนักร้องอมตะ หนึ่งในใจคุณจริงๆ
    เพลงของคุณพุ่มพวง ยังมีคนเปิดฟังกัีนอยู่
    เปิดทีวี ก็มีคนเอาเพลงไปร้่องประกวดให้ได้ยินกันอยู่เสมอ

    ไม่น่าจะมีใครมาแทนตำแหน่ง ราชินีลูกทุ่ง ได้นะ
    อีกอย่าง สมัยนี้ เพลงลูกทุ่งกลายพันธุ์ กันจนจะแยกไม่ออกระหว่างลูกทุ่งกับสตริงแล้วอ่ะ

    ตอบลบ

ความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ