วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ “ทุ่งมะขามหย่อง” จารึกวีรกษัตรีย์ศรีสุริโยทัย,“ทุ่งภูเขาทอง” ร่องรอยแห่งบรรพชน

ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ
ทุ่งมะขามหย่องจารึกวีรกษัตรีย์ศรีสุริโยทัย


ขึ้นชื่อว่า “คน” นั้นย่อมมีสิ่งที่รักไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เทิดทูลโดยเฉพาะคนไทยหากถามในใจย่อมเป็นที่รู้ว่าคือสิ่งใด... 25 พฤษภาคม 2555 ณ. ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่พสกนิกรชาวพระนครศรีอยุธยาและประชาชนคนไทยทั้งประเทศปลาบปลื้มปีติที่เห็นในหลวงของพวกเรา พร้อมด้วยพระราชินีและสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินอย่างไม่เป็นทางการมาที่ทุ่งมะขามหย่อง เพื่อสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระศรีสุริโยทัยและตรวจความคืบหน้าการป้องกันปัญหาอุทกภัย แต่เหนือสิ่งอื่นใดเพื่อให้ประชาชนชาวกรุงเก่าและพสกนิกรชาวไทยได้ชื่นชมพระบารมี องค์ ธ เหนือเกล้าผองไทยให้เป็นมิ่งขวัญกำลังใจสืบไป


สำหรับพื้นที่บริเวณ ทุ่งมะขามหย่องนั้น ถือว่าเป็นพื้นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์พระศรีสุริโยทัย ผู้เป็นพระอัยกีแห่งมหาราชของไทย นามสมเด็จพระนเรศวร ผู้ทรงประกาศชัยชนะกู้แผ่นดิน    อโยธยาเหนือชาวพม่ารามัญศัตรูผู้เป็นเสมือนหอกข้างแคร่คอยทิ่มแทงย่ำยีชาวสยามเรื่อยมา ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อครั้งอดีต ทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ เป็นบริเวณสมรภูมิที่เหล่าวีรกษัตริย์ บรรพชนผู้กล้า ยืนหยัดต่อสู้เอาเลือดเนื้อทาทาบแผ่นดินหวังเพียงหนึ่งเดียวให้อาณาจักรของสยามประเทศเป็นปึกแผ่นให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยจนชั่วลูกชั่วหลาน และศึกที่สำคัญที่จารึกและมีอนุสรณ์จนถึงบัดนี้ คือ เมื่อครั้งที่กองทัพไทยปะทะกับทัพพม่าในศึกที่พระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนคอช้าง



ตามประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ผ่านพิภพเหนือแผ่นดินอโยธยาได้เพียง 7 เดือน พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ (มังตรา) หรือพระเจ้ากรุงหงสาวดีลิ้นดำ นับตั้งแต่พระเจ้าชัยราชาธิราชตีเมืองเชียงกรานต์กลับคืนไปได้แล้ว ก็ทรงเคียดแค้นพระทัยใคร่จะได้ทรงกระทำการยุทธล้างอายอยู่ไม่วายเว้น จึงทรงเร่งจัดการความยุ่งยากภายในให้สงบเรียบร้อยลง ก็เสด็จกรีธาทัพบุกตะลุยเข้ามาในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา และตั้งทัพมั่นคงที่ตำบลลุมพลีใกล้ชานพระนครศรีอยุธยา หวังพิชิตศึกล้างอาย เผยแพร่พระเกียรติยศให้ปรากฏไปทั่วดินแดนไทย
                ครั้นทรงทราบว่า กองทัพกรุงศรีอยุธยาเคลื่อนกระบวนออกจากกำแพงพระนครแล้วก็ทรงโปรดให้แบ่งกำลังออกเป็นสามทัพ โปรดให้บุเรงนองผู้เป็นพี่เขยเป็นผู้ควบคุมทัพม้าเป็นกองล่อ พระเจ้าแปรเป็นผู้คุมทัพหน้าเผชิญข้าศึกยามติดตามทัพล่อของบุเรงนอง การเผชิญศึกตามแผนการยุทธที่ได้วางไว้ตามคำทูลแนะนำของขุนศึกบุเรงนอง ส่วนพระองค์ทรงควบคุมทัพหลวงเป็นกองหนุน
                ส่วนฝากกรุงอโยธยามีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงเป็นจอมทัพหวังให้ไพร่พลมีขวัญกำลังใจและปกป้องขอบเขตขัณฑสีมาให้พ้นมือไพรี การนี้สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเอกอัครมเหสีทรงห่วงเกรงพระราช-สวามีจะมีภัย หากเป็นเช่นนั้นอโยธยาคงมิพ้นพินาศจึงขอตามเสด็จไปในการศึกครั้งนี้ด้วย สมเด็จพระมหา-จักรพรรดิ์ได้ทรงท้วงติง สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเป็นหลายครั้งหลายหนว่าการโดยเสด็จออกสู่สนามยุทธนั้น มากไปด้วยภยันตรายร้ายแรงรอบด้าน แต่พระศรีสุริโยทัยเอกอัครมเหสีแกล่นแกล้ว และจงรักภักดีต่อพระราชสวามียิ่งสิ่งใด ยังคงทูลยืนกรานในอันที่จะโดยเสด็จออกสู่สนามยุทธอยู่อย่างเด็ดเดี่ยว และทรงเครื่องพิชัยยุทธเยี่ยงบุรุษชาติอาชาไนยพร้อมแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงมิอาจทรงทัดทานประการใดได้


                พอทัพไทยเคลื่อนกระบวนไปถึงกองทัพม้าภายใต้การนำของบุเรงนองยอดขุนศึกพม่า ก็ยกออกจากที่ซุ่มเข้าทำการโจมตีทันทีทัพม้าอโยธยาก็เข้าต่อยุทธด้วย และรุกกระหน่ำเอาอย่างได้เชิง ทัพพม่าก็ถอยล่อให้ไทยระเริงใจไปตามแผนกลศึกทัพหลวงใต้บัญชาการของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ก็ทรงเคลื่อนกระบวนหนุนเนื่องตามตีอย่างไม่รอรั้ง




                พระเจ้าแปรกองหน้าเผชิญศึกก็นำทัพออกปะทะทัพกรุงศรีอยุธยาไว้ ไม่ยอมให้ทัพไทยหนุนกองทัพม้าไปได้ การต่อสู้จึงเกิดขึ้นอย่างยอมพลีชีวิตให้แก่ปิตุชาติมาตุภูมิของตน
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงไสช้างพระที่นั่งเข้ากระทำการยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรเยี่ยงวีกษัตริย์ชาตินักรบ ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสียเชิงช้างพระเจ้าแปร ถึงแก่เบนช้างให้ สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงเห็นพระราชสวามีใกล้อันตรายต่อคมพระแสงของ้าวของพระเจ้าแปร ก็ทรงไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรไว้ ประจวบกับพระเจ้าแปรทรงฟาดพระแสงของ้าวมายามได้เชิง สมเด็จพระศรีสุริโยทัยถูกพระเจ้าแปรฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสาตรงพระอุระเบื้องพระยุคลถันถึงขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์บนคอช้างท่ามกลางข้าศึก พระราเมศวรกับพระมหินทร์ราชโอรสต่างขับช้างเข้ากันพระศพสมเด็จพระราชชนนีไว้ การศึกไม่มีแพ้ชนะแก่กันจึงต่างถอยทัพในวันนั้น นี่จึงเห็นได้ว่าแม้องค์สุริโยทัยจะเป็นหญิงที่อยู่ในราชสำนักชั้นสูงรั้งตำแหน่งอัครมเหสีแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา แต่พระองค์หาได้ทรงหวาดกลัวข้าศึกไม่ เลือดแห่งขัตติยะนารีเปี่ยมล้น ทรงแลกพระชนชีพเสี่ยงพระวรกายต่อคมอาวุธยอมแลกเพื่อองค์ราชันย์ผู้เป็นขวัญกำลังใจของประชาราษฎร์ให้อยู่สืบไป ศึกครั้งนี้ทำให้กษัตริย์รามัญพม่าตระหนักว่าคนไทยนั้นรักชาติยิ่งชีพต่อสู้โดยไม่เสียดายชีวิต แม้จะเป็นเพศหญิงที่อ่อนแอกว่า จึงยอมล่าถอยทัพกลับหงสาวดี แต่ทั้งนี้ทำให้คนไทยเสียปิ่นอนงค์แห่งกรุงศรีอยุธยาอย่างไม่มีวันกลับ สร้างความโทมนัสต่อปวงไทยทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ส่วนบริเวณที่สู้รบก็คือบริเวณทุ่งมะขามหย่องนั้นเอง และด้วยเหตุที่ ทุ่งมะขามหย่องจึงเป็นสมรภูมิที่จารึกความกล้าหาญของวีรกษัตรีย์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง



ส่วนบริเวณทุ่งมะขามหย่องทางรัฐบาลได้จัดทำโครงการสร้าง พระราชานุสาวรีย์สมเด็จ-           พระสุริโยทัยเป็นโครงการจัดสร้างขึ้นตามพระราชดำริ รัฐบาลและพสกนิกรชาวไทยได้ร่วมกันสร้าง          น้อมเกล้า ฯ ถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวาระมหามงคลเฉลิม-     พระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อปีพ.ศ. 2535โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2534
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระสุริโยทัย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2538

สำหรับอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยนั้น ภายในมีพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัยหล่อด้วยสำริด มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งขององค์จริงประทับบนหลังพระคชาธาร พร้อมด้วยกลุ่มอนุสาวรีย์ประติมากรรมประกอบกันทั้งสิ้น 49 ชิ้น และมีประติมากรรมจำลองประวัติศาสตร์เป็นพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย วีรกษัตรีย์ไทยสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ มีลักษณะเป็นอนุสรณ์สถาน ประกอบด้วยพระราชานุสาวรีย์ช้างทรงของสมเด็จพระสุริโยทัย มีนักรบจาตุรงคบาทพรั่งพร้อมด้วยเครื่องทรงบนคชาธารศึกครบครัน หล่อปั้นได้อย่างประหนึ่งมีชีวิตที่คอยปกป้องลูกหลานให้พ้นภัยพาลเรื่อยมา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ พื้นที่จำลองค่ายข้าศึกอริราชศัตรูและกองทัพข้าศึก 4 ทัพ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำมีเนื้อที่ราว 180 ไร่ จุน้ำราว 1,000,000 ลูกบาศก์เมตร อาคารอเนกประสงค์ และสวนสาธารณะริมอ่างเก็บน้ำ ที่ทางราชการได้จัดทัศนียภาพให้ผู้ชมได้พักผ่อนอย่างสวยงาม




             นอกเหนือจากความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ดังกล่าว พื้นที่ทุ่งมะขามหย่อง ยังเป็นพื้นที่ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จัดโครงการพระราชดำริ ในด้านการป้องกันน้ำท่วมและเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ที่ผ่านมาครั้งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง ทุ่งมะขามหย่องถูกนำมาใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ และในปี 2554 ที่พสกนิกรชาวไทยต้องประสบกับมหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ผู้ประสบภัยหลายคนต้องทุกข์ทนกล้ำกลืนอย่างแสนเทวษเศร้าโศก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าที่ดินส่วนพระองค์บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ส่งผลให้ชาวบ้านอีกหลายทุ่ง อนุญาตให้ผันน้ำเข้าตามด้วย แม้น้ำท่วมจะมากมายมหาศาลปานประหนึ่งจะกลืนกินแผ่นดินไทย แต่ด้วยน้ำพระทัยจากองค์ปิ่นนคราของไทยนั้นมากมายยิ่งกว่าเสียอีก สร้างความซาบซึ้งปลื้มปีติแก่พสกนิกรชาวไทย ในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง

        ปัจจุบันบริเวณ ทุ่งมะขามหย่องจัดว่าเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน พร้อมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อสำหรับใช้ในการเกษตร ซึ่งในวันนี้ทุ่งมะขามหย่องก็ได้เป็นดังทุ่งทองที่รองรับความเดือดร้อนของประชาชนจากกระแสน้ำ อันเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้จากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



             อาจกล่าวได้ว่าทุ่งมะขามหย่องเมื่อครั้งกาลอดีตนั้นเป็นที่รองรับน้ำเลือด น้ำเหงื่อ และน้ำใจอันรักชาติของบรรพชนผู้กล้าที่ยอมพลีชีวิตเพื่อปกบ้านป้องเมือง ยอมพลีร่างกายเพื่อทับถมให้แผ่นดินสูงขึ้นหวังให้ลูกหลานได้ยืดกายอยู่อาศัย สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ก็ยังเป็นที่รองรับน้ำเหนือที่ไหลบ่าท่วมให้ชนทนทุกข์ แต่ยิ่งกว่านั้นเป็นที่รองรับกักเก็บน้ำพระราชหฤทัยที่คอยหล่อเลี้ยงให้ชนชาวไทยมีความสุข นับได้ว่าทุ่งมะขามหย่องมิเคยสิ้นคุณ คอยตอบแทนประชาชนเรื่อยมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และอาจสืบจนถึงกาลเบื้องหน้า


      -----------------------------------------------------------------------------------------------------



“ทุ่งภูเขาทอง” ร่องรอยแห่งบรรพชน


            ทุ่งภูเขาทอง ผืนแผ่นดินที่สำคัญในประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยามว่างศึกก็เป็นที่ปลูกข้าวหล่อเลี้ยงชีวิตชาวอโยธยา ยามศึกก็เป็นผืนดินที่เหล่าบรรพชนตั้งมั่นรับข้าศึกมิให้กร่ำกรายขอบขัณฑสีมา ซึ่งเป็นที่ต่อสู้ระหว่างไทยและพม่ารามัญมาหลายครั้งหลายครา เจดีย์ภูเขาทอง เป็นมหาเจดีย์สำคัญตั้งอยู่นอกเกาะกรุงศรีอยุธยา ด้านตะวันตกเฉียงเหนือไปประมาณ 2 กิโลเมตร ทุ่งภูเขาทอง ตั้งอยู่บริเวณตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทุ่งภูเขาทองเป็นแหล่งโบราณคดีและแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาอยุธยา สภาพปัจจุบันเป็นทุ่งนาและเลี้ยงสัตว์ "ทุ่งภูเขาทอง" คือพื้นที่นอกกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือวัดภูเขาทองซึ่งมีเจดีย์ประธานขนาดใหญ่ตั้งโดดเด่นอยู่กลางพื้นที่คงจะเป็นที่มาของชื่อทุ่งแห่งนี้


 
 
เจดีย์ภูเขาทองนี้ปรากฏตามประวัติศาสตร์จากการสันนิษฐานว่า เจดีย์ภูเขาทอง ได้สร้างขึ้นใน      รัชสมัยสมเด็จพระราเมศวรและกาลสืบมา เมื่อปีพุทธศักราช 2112 พระเจ้าชนะสิบทิศหงสาวดีบุเรงนอง     ยกพยุหโยธาทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้ในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช โดยยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาแขวงเมืองตาก รวมทั้งหมด 7 ทัพ ประกอบด้วย พระมหาอุปราชา เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู เจ้าเมืองอังวะ เจ้าเมืองเชียงใหม่ และเชียงตุง เข้ามาทางเมืองกำแพงเพชร โดยได้เกณฑ์หัวเมืองทางเหนือรวมทั้งเมืองพิษณุโลกมาร่วมสงครามด้วย รวมจำนวนได้กว่า 500,000 หวังขยี้ราชธานีสยามให้พินาศย่อยยับตามวิสัยคนพาล ทัพพระเจ้าบุเรงนองก็ตั้งค่ายรายล้อมพระนครอยู่ไม่ห่างพระนครมากนัก การตั้งรับภายในพระนครส่งผลให้มีการระดมยิงปืนใหญ่ของข้าศึกทำลายอาคารบ้านเรือนอยู่ตลอด ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างแสนสาหัส
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อทราบว่าหัวเมืองทางเหนือตกเป็นของพม่าแล้ว จึงเตรียมรบตั้งรับอยู่ที่พระนคร นำปืนใหญ่ทรงพลังนามนารายณ์สังหารยิงไปยังกองทัพพระเจ้าหงสาวดีที่ตั้งอยู่บริเวณทุ่งลุมพลี ถูกทหาร ช้าง ม้าล้มตายจำนวนมาก พม่าจึงถอยทัพมาตั้งที่บ้านพราหมณ์ให้พ้นทางปืน แล้วพระเจ้าหงสาวดีจึงเรียกประชุมการศึก พระมหาอุปราชนันทบุเรงเห็นสมควรให้ยกทัพเข้าตีไทยทุกด้านเพราะมีกำลังมากกว่า แต่พระเจ้าหงสาวดีไม่เห็นด้วย เพราะกรุงศรีอยุธยามีทำเลที่ตั้งเป็นปราการแน่นหนามีนทีล้อมรอบประดุจเกาะทั้งสามสาย จึงรับสั่งให้ตีเฉพาะด้านตะวันออกเพราะคูเมืองแคบที่สุด พม่าพยายามจะทำสะพานข้ามคูเมืองโดยนำดินมาถมเป็นสะพาน พระมหาเทพนายกองรักษาด่านอย่างเต็มสามารถ โดยให้ทหารไทยใช้ปืนยิงทหารพม่าที่ขนดินถมเป็นสะพานเข้ามา ทำให้พม่าล้มตายจำนวนมากจึงถอยล่าข้ามคูกลับไป
พระเจ้าชนะสิบทิศบุเรงนองทรงพยายามโจมตีอยู่นานจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2112 ก็ยังมิอาจยึดกรุงศรีอยุธยาได้ อีกทั้งยังสูญเสียกำลังไพร่พล ช้าง ม้า พร้อมเสบียงเป็นจำนวนมาก  พระองค์ทรงพยายามเปลี่ยนที่ตั้งค่ายอยู่หลายระยะ โดยในภายหลังทรงย้ายค่ายเข้าไปใกล้กำแพงเมืองจนทำให้สูญเสียพลอย่างมาก ระหว่างการสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประชวรและสวรรคตในเวลาต่อมา สมเด็จพระมหินทร์ขึ้นครองราชย์ใต้เศวตฉัตรและทรงบัญชาการรบแทน
พระเจ้าหงสาวดีจึงคิดอุบายจะใช้พระยาจักรีที่จับตัวได้เป็นประกันเมื่อครั้งสงครามช้างเผือกเป็นไส้ศึก จึงให้พระมหาธรรมราชาทรงเกลี้ยกล่อมพระยาจักรีให้เป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา แล้วแกล้งปล่อยตัวออกมา รุ่งเช้าพม่าทำทีเป็นตามหาแต่ไม่พบเลยจับตัวผู้คุมมาตัดหัวเสียบไว้ริมแม่น้ำเพื่อให้ไทยหลงกล
สมเด็จพระมหินทร์ทรงดีพระทัยที่พระยาจักรีหนีมาได้จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้ถืออาญาสิทธิ์บังคับบัญชาการรบแทนที่พระยาราม ครั้นพระยาจักรีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาพระนครแล้วจึงดำเนินการสับเปลี่ยนหน้าที่ของฝ่ายต่าง ๆ จนกระทั่งการป้องกันพระนครอ่อนแอลง เมื่อเห็นว่าได้เวลาอันควรพระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทุกด้าน และทำให้กองทัพพม่าเข้าสู้พระนครสำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 1 เดือนในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 (เดือนเก้าไทย) พระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาและเปิดประตูเมือง ทำให้ทัพพม่าเข้ายึดพระนครสำเร็จ กรุงศรีอยุธยาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า นับเป็นความวิปโยคของชนชาวไทยอย่างยิ่งที่การเสียกรุงครั้งนี้เหตุเพราะคนไทยเป็นไส้ฉนวนแห่งความพินาศ นับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของชาวสยามหากซึ่งแตกแยกย่อมถึงกาลแตกดับ
ในศึกครั้งนี้พระเจ้าบุเรงนอง จึงได้สร้างพระเจดีย์ใหญ่แบบมอญขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดนี้ และให้เรียก พระเจดีย์นั้นว่าภูเขาทอง เป็นเหตุให้ชาวบ้านพากันเรียกวัดนั้นวัดภูเขาทอง ต่อมาพระเจดีย์ภูเขาทองนี้หักพังลง ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมบรมโกศเมื่อพุทธศักราช 2287 จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ใหม่ เปลี่ยนรูปพระเจดีย์แบบมอญเป็นรูปพระเจดีย์ไทย เพราะฉะนั้น ในเวลานี้จึงปรากฏว่าฝีมือช่างของมอญที่สร้างไว้แต่แต่เดิมยังคงเหลืออยู่แต่เพียงฐานทักษิณ เท่านั้น ส่วนบนขึ้นไปเป็นพระเจดีย์แบบไทยทำเป็นรูปย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง มีฐานทักษิณ 4 ชั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทั้ง 4 ด้านมีบันไดขึ้นไปจนถึงฐานทักษิณชั้นบนสุด บนชั้นนี้มีฐานสี่เหลี่ยมขององค์เจดีย์ที่มีอุโมงค์รูปโค้งเข้าไปข้างใน ซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ 1 องค์ สูงขึ้นไปเป็นฐาน 8 เหลี่ยมที่ตั้งตระหง่านกลางทุ่งภูเขาทองมาจนถึงทุกวันนี้
ยุคสมัยของการเสียกรุง หลังการสูญเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดนี้เป็นวัดร้างเรื่อยมา แต่พระมหาเจดีย์ก็ยังเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาที่มีคนเดินทางมากราบไหว้สักการะเรื่อยมา
ที่สำคัญเจดีย์ภูเขาทองเป็นแหล่งกำเนิดของนิราศเรื่องเอกแห่งวงศ์วรรณคดีไทยเรื่องหนึ่ง คือ “นิราศภูเขาทอง” ของ “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ที่เดินทางมานมัสการในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นิราศภูเขาทอง ได้รับยกย่องว่าเป็นนิราศเรื่องเยี่ยมที่สุดของท่านสุนทรภู่ ท่านแต่งเรื่องนี้ เมื่อครั้งเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่าไปในราวปี พ.ศ.๒๓๗๑ หลังจากเกิดมีเรื่องมีราวที่วัดราชบูรณะฯ ขณะนั้นท่าน มีอายุราว ๔๒ ปีนิราศเรื่องนี้ไม่ยาวนัก แต่พร้อมไปด้วยกระบวนกลอนอันไพเราะ และแง่คิดสำหรับการดำรงชีวิต อาจเป็นด้วยท่านสุนทรภู่ได้บวชมาหลายพรรษาแล้ว และได้ตระหนักถึงความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น ซึ่งบรมครูกลอนสุนทรภู่ได้อธิบายลักษณะภูเขาทองลงบนบทกวีได้ไพเราะจับใจนัก
ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ                           เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง                                                        ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น                                       เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได                                            คงคงลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด                                                      ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน                                                เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น                                                    ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม
ประทักษิณจินตนาพยายาม                                               ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย                                          ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน
เป็นลมทักขิณาวัฏน่าอัศจรรย์                                           แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก
ทั้งองค์ฐานราญร้าวถึงเก้าแสก                                         เผลอแยกยอดสุดก็หลุดหัก
โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก                                                     เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ                                              จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น                                                  คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้นฯ

นอกจากนี้ ณ วัดภูเขาทองแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่ริมถนนสายอยุธยา-อ่างทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา ห่างจากเกาะเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กม. บริเวณนี้เรียกว่าทุ่งภูเขาทอง ในอดีตเคยเป็นสมรภูมิรบหลายครั้งหลายคราว วีรบุรุษของไทยนับไม่ถ้วนได้เสียสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อปกป้องอธิปไตยและ ดำรงไว้ซึ่งความเป็นไท เมื่อ พ.ศ. 2129 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกระทำศึกอย่างเหี้ยมหาญ เป็นผลให้อริราชศัตรูต้องพ่ายแพ้ไป พื้นที่นี้จึงได้รับการพัฒนาสร้างเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเทิดพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงมหาวีรกรรมในครั้งนั้น

โครงการก่อสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นโครงการอันเนื่องมาจาก พระราชดำริเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ก่อสร้างบริเวณทุ่งภูเขาทอง ในเนื้อที่ 543 ไร่ ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศเหนือตามถนนสายอยุธยา-ป่าโมก-อ่างทอง เพียง 3 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเทิดพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์แด่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลเฉลิมฉลอง ทรงครองราชย์สมบัติครบ 50 ปี เพื่ออนุรักษ์บริเวณประวัติศาสตร์และโบราณสถาน และเพื่อเป็น จุดท่องเที่ยวของจังหวัด พื้นที่ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช องค์พระบรมรูปขนาด 3 เท่า ทรงม้า แท่นฐาน และลานบันได้เป็นหินอ่อนและหินแกรนิต ภาพนูนต่ำบรรยายพระราชประวัติ จำนวน 11 ภาพ พร้อมรูปปั้นเครื่องพิชัยสงครามอาทิเช่น พระแสงดาบคาบ พระมาลาเบี่ยง พระแสงของ้าว และพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง พร้อมค่ายอาคารพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ่างเก็บน้ำความจุประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อการพักผ่อน และมีการปลูกสวนป่า เพื่อเป็นพื้นที่สีเขียว
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญ ความเสียสละเพื่อลูกหลานในภายภาคหน้า เพื่อเป็นอนุสติเตือนใจให้รู้ว่าเราเกิดบนผืนแผ่นดินไทยที่มีบรรพบุรุษเป็นผู้แลกเลือดเนื้อทาทาบทับถมให้เกิดเป็นดินที่เป็นปึกแผ่น ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์นานัปการ แล้วลูกหลานเล่าได้ตอบแทนคุณแผ่นดินหรือยัง

 ---------------------------------------------------------------------------------------------

ผู้จัดทำ
นางสาวภัคฐิชา  ทยานศิลป์ รหัส 52112520005
นางสาวสุพัชรี  พัดลม รหัส 52112520014
นายกฤษ   คล้ายแก้ว  รหัส 52112520023
นายชัยภัทร  บุรีรักษ์  รหัส  52112520027
นางสาวนิพา  จันทร์ดารา รหัส 52112520028
นางสาวมารยาท  สกุลเต็ม รหัส 52112520066

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

งานเขียนสารคดีท่องเที่ยววัดมหาบุศย์

สู่เส้นทาง...... ตำนานแห่งรัก ณ วัดมหาบุศย์


           
   วัดมหาบุศย์ ถ้าบางท่านได้ยินชื่อคงแปลกใจว่าวัดนี้มีอะไรพิเศษ หากบอกว่าเป็นวัดที่ฝังร่างของแม่นาค หรือนางนาคพระโขนง นางที่ยึดมั่นในความรักแม้ตัวเองจะไร้ชีวิต ไร้ร่างกาย แต่เหลือเพียงจิตวิญญาณที่มากล้นด้วยความรัก เล่าขานเป็นตำนานมาตราบจนทุกวันนี้ ครั้งนี้ขอพาเที่ยววัดมหาบุศย์พร้อมเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานความรักของแม่นาคพระโขนง            
          วัดมหาบุศย์ ตามประวัติที่ได้สืบค้น เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. ๒๓๐๕ ก่อนเสียกรุงเก่าเพียง ๕ ปี เล่ากันว่าเดิมชื่อวัดสามบุตร กล่าวคือบุตรชายสามคนพี่น้องได้สร้างขึ้น และเข้าใจว่าเสนาสนะสิ่งก่อสร้างในวัดในขณะนั้นคงจะเป็นไม้เสียเป็นส่วนมาก ซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่คงทนถาวร ครั้นกาลต่อมาจึงมีสภาพเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อพระมหาบุตร เปรียญ ๕ ประโยค สำนักวัดเลียบ ได้มาเยี่ยมญาติโยมซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในริมคลองพระโขนง ในเวลานั้นบรรดาชาวบ้านพระโขนงจึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ให้ท่านอยู่วัดสามบุตร เพื่อเป็นผู้นำในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเรียบร้อย ชาวบ้านจึงเปลี่ยนนามใหม่จากวัดสามบุตร เป็นวัดมหาบุตร ตามนามของพระมหาบุตร ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของภาษาไทย จึงได้เขียนชื่อเป็นทางราชการว่า วัดมหาบุศย์ดังที่เห็นและใช้ตราบจนทุกวันนี้                                                     
        ตามประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ฉบับกรมการศาสนาจัดพิมพ์ ตอนหนึ่งว่า วัดมหาบุศย์มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์อยู่หลายปี ตราบถึงประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๕ ต้นรัชกาลที่ ๖ จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙”


สิ่งแรกที่พวกเราได้ทำคือเดินไปซื้อดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระที่ทางวัดจัดเจ้าหน้าที่คอยบริการให้ทำบุญทำไหร่ก็ได้ตามกำลังทรัพย์ พอได้ชุดไหว้พระคนละชุดแล้วก็เข้าไปในวิหารหลวงพ่อยิ้มลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ผู้ที่สักการะหลวงพ่อยิ้มส่วนใหญ่มักจะเสี่ยงเสียมซีไปพร้อมๆกันด้วย  ก็เลยเข้าทางของพวกเราเสี่ยงเซียมซีกันยกใหญ่ พอผลทำนายออกมามีทั้งได้ดีและก็ได้ไม่สมใจนึก

 ถัดจากวิหารหลวงพ่อยิ้มไปเป็น อุทยานพระโพธิสัตว์กวนอิมระหว่างทางก็เห็นกบน้อยอยู่ใต้กอบัวในอ่างน้อยสายตาน่ารักแจ่มใส พวกมันคงจะรอเจ้าชายจากแดนไกลเพื่อจุมพิตให้กลายเป็นคนก็ได้ภายในประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ตั้งอยู่กลางแจ้งแต่มากด้วยร่มไม้ทำให้ดูร่มรื่นสบายตา พวกเราแวะไหว้เจ้าแม่ พร้อมมีบทนมัสการบทบูชาเจ้าแม่กวนอิมที่แปะอยู่ตรงหน้า หลังจากพยายามอ่านบทบูชาอยู่นานสองนาน แต่เพราะภาษาเป็นภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาจีน จึงต้องผันวรรณยุกต์ ตัวสะกดกันซึ่งไม่รู้ว่าถูกต้องหรือเปล่า หรือถ้าขืนท่องไปผิดหลักไวยากรณ์ที่แท้จริง เจ้าแม่กวนอิมท่านได้ฟังเข้าแล้ว อาจทำให้ท่านปวดหัวได้ หรือถ้าพวกเรามัวท่องโดยการพยายามรั้นให้ถูกต้องคงจะเป็นลมจนลิ้นพันกันแน่ ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเราคือยกมือไหว้แล้วอธิษฐานขอพรนับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และบริเวณนั้นยังมีอ่างปลาที่มีหมู่มัจฉาที่ตัวค่อนข้างใหญ่แต่ช่างไม่เป็นคู่สร้างคู่สมกับอ่างใบน้อยนี้เลย นี่ถ้าหาก “มีนานุช” นางเอกจากเรื่องรักนี้หัวใจมีคลีบได้เห็นเข้าคงมิต้องโวยวายรีบเอาไปปล่อยเป็นแน่ รวมทั้งเต่าตัวน้อยอีกหลายตัวที่มาพักร้อนอาบแสงแดดฉาบผิวรับยูวีกันขอบอ่าง ดูดูไปแล้วน่าสงสารมากกว่าน่าเอ็นดู



จากนั้นพวกเราก็ไปหยุดยังหน้าโบสถ์ แต่ไม่สามารถจะย้ายกายเข้าไปด้านในได้ เนื่องจากทางวัดไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้า จะเปิดก็แต่เมื่อเวลาพระท่านทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เท่านั้น พวกเราก็ได้แต่ยืนพนมมือสาธุและชักภาพเอาไว้เป็นไดอารี่ของความทรงจำ อยู่ข้างนอกประตูโบสถ์ เพราะพวกเรายึดถือว่า ไหว้พระอยู่ที่ใจ อยู่ที่ไหนๆ ก็ไหว้ได้ อีกประการขี้เกียจนั่นเอง แต่ถ้าให้ดีเข้าไปนั่งสงบจิตสงบใจอยู่ในวัดก็จะทำให้จิตเราสงบและมีสมาธิมากขึ้น สาธุ สาธุ...
แต่จุดมุ่งหมายที่พวกเราสหายทั้งหกคนได้มาเยี่ยมเยือนวัดมหาบุศย์ในครั้งนี้ บางท่านอาจคิดว่าวัดมหาบุศย์มีอันใดหรือสิ่งใดที่น่าสนใจ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเป็นวัดที่เล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นวัดที่ฝังร่างของนางนาค หรือคนแถวนี้เรียกกันว่าย่านาค หรืออีกชื่อที่คนไทยรู้จักกันดีผ่านจอแก้วและจอเงินหลายเวอร์ชั่นคือ แม่นาคพระโขนง อ๋อ อ๋อ...บอกอย่างนี้แต่ที่แรกก็จบก็เล่าให้มันยืดยาวซะงั้น

ศาลย่านาคตั้งอยู่ริมน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งมี ศาลย่านาคตั้งอยู่ เมื่อพวกเราเข้ามาถึงเห็นผู้คนมากมายมาจุดธูปจุดเทียนขอพรจากย่านาค ส่วนมากจะเป็นคู่ชายหญิงที่หวังมาขอพรให้รักนั้นสมหวัง ศาลย่านาคนั้นเป็นศาลที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากนัก ภายในตัวศาลค่อนข้างเงียบและสะอาดตาเพราะมีเจ้าหน้าที่ค่อยดูแลเป็นอย่างดี แต่ก็รับรู้ได้ถึงความขลัง ที่หากกล่าวโดยตรงแล้วน่าขนลุก  พวกเราก้าวเข้าไปแต่ต้องปฏิบัติตามกฎของที่นี่ที่มีค่อนข้างเยอะจนกลายเป็นความเกร็งไปเช่นห้ามถ่ายรูป ห้ามเสียงดัง วิธีการไหว้ และอีกมากมาย การบูชาย่านาคนั้นใช้ธูปสองดอกในการบูชา ดอกไม้ พวงมาลัย แผ่นทองคำเปลวอย่างละหนึ่ง เข้าไปไหว้โดยสังเกตจากคนก่อนที่เข้าไปเพื่อจะได้ไม่ต้องมาตั้งร้านขายขี้หน้าแถววัดนี้

แม่นาคพระโขนง นั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีสามีภรรยาที่รักกันมากคู่หนึ่งอาศัยอยู่ริมคลองวัดมหาบุศย์เขตพระโขนง ภรรยาชื่อนาค สามีชื่อทิดมาก ทั้งคู่ปลูกเรือนหลังเล็กๆ อยู่ห่างไกลจากผู้คนมาพอสมควร เมื่ออยู่กันได้ไม่นานนางนาคก็ตั้งท้องขณะที่บ้านเมืองกำลังเกิดศึกสงคราม ทิดมากจึงถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นทหาร และต้องออกรบยังต่างเมือง ไม่นานนางนาคก็คลอดลูกกับหมอตำแยโดยทิดมากไม่ได้อยู่ดูแล โชคร้ายที่นางนาคเจ็บท้องจนทนไม่ไหวจึงสิ้นใจตายพร้อมลูกในท้องในเวลาต่อมา แต่ด้วยความรักที่มีต่อผัวจึงไม่ยอมไปผุดไปเกิด และรอวันที่ผัวจะกลับมา ระหว่างนั้นก็เที่ยวหลอกหลอนชาวบ้านจนหวาดกลัวไปทั่ว                                      


วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทิดมากกลับมาในเวลาพลบค่ำแต่ก็ยังพอเห็นทางเดินแบบลางๆ เนื่องจากเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง เมื่อถึงบ้านก็เห็นแม่นาคนั่งร้องเพลงกล่อมลูกอยู่ที่เรือนชานก็รู้สึกดีใจรีบวิ่งไปหาลูกเมีย แต่ต้องสะดุ้งสุดตัวที่ร่างกายนางนาคเย็นผิดปกติ ก็ไม่ได้สงสัยอะไรมากนัก ระหว่างนั้นแม่นาคก็จัดแจงยกสำรับกับข้าวออกมาให้ผัวกินและก็บังเอิญที่ทิดมากทำช้อนตกลงพื้นเรือนแม่นาคจึงเอื้อมมือไปเก็บอย่างรวดเร็วทำให้ทิดมากรู้สึกแปลกใจ ต่อมาชาวบ้านก็แอบกระซิบบอกทิดมากว่านางนาคได้ตายไปนานแล้วและตายทั้งกลมด้วย ที่พ่อมากเห็นแม่นาคอุ้มลูกน้อยนั้นนะเป็นผี ไม่ไช่คน ประกอบกับตนเองก็เห็นพฤติกรรมแปลกๆอยู่หลายครั้ง จึงตัดสินใจหนีไปอาศัยอยู่ที่วัดมหาบุศย์ ทำให้นางนาคต้องออกติดตามหาผัว พร้อมกับเที่ยวหลอกหลอนชาวบ้านด้วยความโกรธแค้น จนไม่มีใครกล้าเดินผ่านวัด สร้างความเดือดร้อนเดือดร้อนไปทั่ว ต่อมาชาวบ้านได้ไปตามหมอผีมาปราบ และจับวิญญาณแม่นาคใส่หม้อดินไปถ่วงน้ำ พร้อมกับอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณไปผุดไปเกิด ไม่ต้องมาวนเวียนหลอกหลอนชาวบ้านอีกต่อไป”
นี่เป็นเพียงหนึ่งในตำนานแม่นาคพระโขนงที่เล่าสืบต่อๆ กันมา ส่วนจะเป็นจริงหรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ และใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ที่ตำนานแม่นาคพระโขนงคงความอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ได้ นอกจากเรื่องชวนขนหัวลุกแล้ว ตำนานแห่งความรักที่มั่นคงของแม่นาคต่อทิดมากนั้นถือเป็นหนึ่งในตำนานรักอมตะของเมืองไทยที่น่าเทิดทูนยกย่องเป็นอย่างยิ่ง
...ความตายแม้จะเป็นตัวกำหนดให้พรากจากทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ความรักของแม่นาคนั้นยังไม่มีสิ่งใดมาพรากไปแม้แตความตายก็ตาม...
 หลังจากที่พวกเราทั้ง ๖ ได้สักการะบูชาแม่นาค ผู้ที่มีความรักติดกายจนชีวิตหาไม่แล้ว พวกเราขอพรกันตามที่หวังไว้ และก็จรลีกันออกมา ภายนอกศาลยังมีร้านขายปลาเพื่อเอาไว้ให้ผู้ใจบุญได้ปล่อยเป็นทานบารมี แต่พวกเราก็มิได้ซื้อเพียงแต่เดินกันไปที่ท่าน้ำ พอทอดตามองเห็นคลองพระโขนงนึกรำพึงรำพันอยู่ในใจ น้ำใสไหลเย็นมันไหลไปทางไหนเสียหมด มีเพียงน้ำที่หมดสิ้นแล้วความสะอาด แต่ยังมีหมู่ปลาสวายที่โผล่หัวมาคอยรับอาหาร หรือพวกมันมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ให้หยุดทำลายบ้านของพวกมันเสียที พอเสร็จธุระตรงนั้นก็ได้ยุติการเที่ยวไว้แต่เพียงเท่านี้ เตรียมเดินทางกลับกัน หวังว่าวันหน้าฟ้าใหม่จะได้กลับมาเยี่ยมเยือนอนุสรณ์ของความรักที่ไม่มีวันตายครั้งนี้อีก



รักนี้...ไม่มีวันตาย


แม่นาคพระโขนงคนไทยกว่าค่อนประเทศคงเคยได้ยินชื่อนี้ เป็นชื่อที่กล่าวขานถึงตำนานแห่งความรัก ความเฮี้ยน และความน่าสะพรึงกลัว นางนาคหรือแม่นาคผู้ที่มีอดีตในเรื่องความรักที่มั่นคง การเฝ้ารอคอยให้ได้มาความรักแม้ตัวตนจะสิ้นชีพไปแล้วก็ตาม แต่หากวิญญาณยังคงมีความห่วงหาอาวรณ์เพื่อสิ่งที่เรียกว่าความรักคำเดียวเท่านั้น และวลีที่ชื่อว่า "พี่มากขา..." วลีนี้ถูกนำมาสร้างสรรคืผ่านจอแก้วและจอเงินมาหลายสมัย การได้มาในละครไทยที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริง “แม่นาค” ถ้าฟังเพียงผ่าน ฟังเพียงเพื่อเพลิดเพลินก็จะเป็นเพียงแค่คำๆหนึ่งที่ผ่านเข้าหูและก็ผ่านเลยไปไม่มีอะไรกระทบความรู้สึก แต่ถ้าหยุดแล้วพิจารณา ตีความในน้ำเสียง คำๆนี้ใช่คำที่แสดงถึงความเจ็บปวดหรือไม่ ใช่ความทรมานที่เกิดจากความรักที่ไม่สามารถสมหวังใช่หรือไม่ น้ำเสียงที่แสดงถึงความปวดปล่าของหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งมั่นคงในรัก หญิงสาวที่เฝ้ารอการกลับมาของชายอันเป็นที่รักจนวันสุดท้ายของลมหายใจ แม้ในวันที่เหลือเพียงแค่วิญญาณเธอก็เลือกที่จะรับความทรมานเพื่อที่จะ “รอ” ชายคนรักกลับมา จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่า การรอคอยและความทรมานของหญิงสาวที่มั่นคงในรักผู้นี้จะสิ้นสุดลงหรือยัง


แม่นาคพระโขนง หรือ แม่นาค เรื่องราวความรักของสามี ภรรยาคู่หนึ่ง อาศัยอยู่กินด้วยกันที่ย่านพระโขนง ฝ่ายสามีชื่อนายมาก ส่วนภรรยาชื่อนางนาค ทั้งสองอยู่กินกันจนนางนาคตั้งครรภ์อ่อน ๆ นายมากก็มีเหตุจำเป็นให้ต้องไปเป็นทหารประจำการณ์ที่บางกอกตามหมายเรียก นางนาคจึงต้องอยู่เพียงคนเดียวตามลำพัง จนครบกำหนดคลอดแต่นางโชคร้าย สิ้นใจไปพร้อมกับลูกในท้อง กลายเป็นผีตายทั้งกลม
หลังจากนั้น ศพของนางนาคได้ถูกนำไปฝังไว้ยังป่าช้าท้ายวัดมหาบุศย์ ส่วนนายมากเมื่อปลดประจำการก็กลับจากบางกอกมายังพระโขนงโดยที่ยังไม่ทราบความว่าเมียของตัวได้หาชีวิตไม่แล้ว ไม่ว่าใครที่มาพบเจอนายมากจะบอกนายมากอย่างไร นายมากก็ไม่เชื่อว่าเมียตัวเองตายไปแล้ว จนวันหนึ่งขณะที่นางนาคตำน้ำพริกอยู่บนบ้าน นางนาคทำมะนาวตกลงไปใต้ถุนบ้าน ด้วยความรีบร้อน นางจึงเอื้อมมือยาวลงมาจากร่องบนพื้นเรือนเพื่อเก็บมะนาวที่อยู่ใต้ถุนบ้าน นายมากขณะนั้น บังเอิญผ่านมาเห็นพอดี จึงปักใจเชื่ออย่างเต็มร้อย ว่าเมียตัวเองเป็นผีตามที่ชาวบ้านว่ากัน
ตำนานรักของนางนาค นับเป็นตำนานรักอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจผู้คนทั่วไปอย่างมิรู้คลาย กับความรักที่มั่นคงของนางนาคที่มีต่อสามี แม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางไปได้
ด้วยเหตุนี้กระมังจึงเป็นที่มา ของการเดินทางไป “ขอพร” ของบุคคลบางกลุ่มที่มีความเชื่อและมั่นคงในรัก ทั้งรักที่สมหวัง รักที่ผิดหวัง ตลอดจนรักที่รอคอย เพียงเพราะหวังที่จะสมหวังในรัก เพียงหวังว่า แม่นาคจะเมตตาช่วยเหลือ เพราะ “ความเชื่อ” กับ “คนไทย” นั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาช้านาน    


การบูชาย่านาค มีหลายรูปแบบ เช่นอาจซื้อผ้าเจ็ดสีเจ็ดศอกมาพันรอบต้นไม้ บางคนก็ซื้อของไหว้เช่นชุดไทย สำหรับย่านาค หรือชุดเด็กและของเล่นเด็กสำหรับลูกย่านาค (ที่ตายทั้งกลม) หรือบางคนก็เอารูปวาดที่จินตนาการว่าเป็นย่านาคมามอบให้ ซึ่งรูปแบบการบูชาย่านาคนี้ ก็อาจแตกต่างไปจากที่อื่นๆ และที่แปลกก็คือมีคนซื้อโทรทัศน์จอใหญ่มาเปิดให้ย่านาคดูด้วย ย่านาคมีรถกระบะ มีมอเตอร์ไซค์เป็นของตนเองด้วยเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อแต่ก็เป็นไปแล้วและย่าคงเป็นผู้หญิงที่มีชุดไทยมากที่สุด ความเชื่อ ความชอบ ในสิ่งเหล่านี้หลายคนอาจเห็นเป็นเรื่องแปลก บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ เป็นเรื่องของคนสิ้นหวังขาดที่พึ่งแต่เรื่องนี้คงไปว่าใครไม่ได้ ทุกคนมีเหตุผล มีความเชื่อเป็นการส่วนตัว และเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน


 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ บุคคลที่เดินทางไปขอพร ที่บ้างก็สมหวัง บ้างก็ผิดหวัง ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่เหตุผลส่วนหนึ่งของการกระทำก็เพียงเพราะ “หวัง” ให้เป็นที่พึ่งทางใจ ไหว้เพื่อความสบายใจ ไหว้เพื่อคลายทุกข์ใจ โดยที่ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยว่า “ผล” ของการไหว้จะเป็นอย่างไร
ตราบใดที่สังคมไทยยังมีความเชื่อ ยังมีสิ่งที่เคารพสักการะ มนุษย์ทุกคนก็มีสิทธิที่จะเชื่อ มีสิทธิที่จะหวัง ความเชื่อในการขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องที่มีผลต่อจิตใจ เป็นที่พึ่งทางใจ บุคคลที่ไม่เชื่อก็มักมองว่าเป็นความงมงาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกสิ่งทุกอย่างมีผลมาจากการกระทำเป็นสำคัญ เพียงแค่คิดดีและทำดี ผลจากการกระทำก็จะทำให้ชีวิตเราเจอแต่สิ่งที่ดี ๆ เป็นการตอบแทนเช่นกัน