สารคดี
เรื่อง ปริศนาสุสานช้าง
ช้างป่ามีบทบาทสำคัญในธรรมชาติ โดยเป็นสัตว์ที่เป็นร่มเงาของระบบนิเวศ (Umbrella species) และเป็นแกนหลักของระบบนิเวศ (keystone species) ในการเปิดทางเดินช้างในป่าที่รกทึบเพื่อเคลื่อนย้ายหาอาหารโดยเส้นทางที่ช้างใช้หาอาหาร เราเรียกว่า “ด่านช้าง” ซึ่งสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ จะตามมาใช้เส้นทางนี้ด้วยช้างป่ามีพฤติกรรมการอาศัยและหากินที่มีลักษณะเด่น อาทิ แสวงหาแหล่งดินโป่ง ขุดหาแหล่งน้ำในฤดูแล้ง โน้มดึงและนำยอดไม้ ลูกไม้ป่าให้โน้มลงสู่พื้นล่างของป่า โดยพฤติกรรมเหล่านี้ได้เกื้อหนุนเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ มากมาย ทั้งสัตว์กินพืชและสัตว์กินเนื้อ
ช้างป่าเดินเคลื่อนย้ายหากินเป็นระยะทางไกล มีการถ่ายมูลเป็นระยะ พฤติกรรมเช่นนี้ได้ช่วยกระจายเมล็ดลูกไม้ที่ช้างกินให้ขึ้นแพร่กระจายและเติบโตในป่าที่ช้างเดินผ่านไป สิ่งเหล่านี้ได้ช่วยสร้างสมดุลและความมั่นคงต่อระบบนิเวศที่ช้างอาศัยอยู่ และเกื้อกูลต่อความสมบูรณ์ของผืนป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคนด้วย
หลังจากเมื่อคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ๒๕๕๔ ในขณะที่คนเมืองเคานท์ดาวน์นับถอยหลังกันตามศูนย์การค้าทั่วประเทศ ผมก็เคานท์ดาวน์กับเขาเหมือนกันแต่เป็นการเคานท์-นับดวงดาวบนท้องฟ้าในป่ากุยบุรีอยู่ในดงช้างป่า แถมเดินเซ่อซ่าในความมืดเข้าใกล้ช้างป่าเกินไปอย่างไม่รู้ตัวเพราะความมืดจนมองไม่เห็นและมัวแต่แหงนหน้านับดาว พลันเสียงประหลาดก็ดังขู่ให้ผมขนลุกตกใจกระโจนหนีเข้าบ้านพักนักวิจัยช้างแทบไม่ทัน นอนอกสั่นขวัญแขวนอยู่ค่อนคืน
เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น วันปีใหม่ “คุณสุชิน วงศ์สุวรรณ” หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานกร.๑ (ป่ายาง) ก็ขับรถเคลื่อนสี่ล้อมารอผมที่หน้าที่พัก
“คุณมาโนช ผมจะพาคุณไปเฝ้าสังเกตช้างป่า...” คุณสุชินแจ้งผม
“ตรงไหนดีครับ?” ผมชักปอด ๆ เพราะเมื่อคืนก็หัวฟูมาแล้วครั้งหนึ่ง
“ผมจะพาไป...นั่งห้างพารากอน!”
“ไฮ้...ห้างพารากอนสุดหรูมาอยู่ในป่ากุยบุรีตั้งแต่หนใดครับ?”
คุณท่านที่รักอย่าเพิ่งตกใจว่าหัวหน้า “บุญลือ พูลนิล” แห่งอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เปลี่ยนป่าเป็นย่านการค้าไปแล้ว... ที่จริงคือการเฝ้าศึกษาช้างป่านั้นมีวิธีการที่ต้องทำมากมาย ตามรอยเท้าเพื่อศึกษาแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ แหล่งดินโป่ง ตามรอยขี้...เพื่อวิเคราะห์ว่าในขี้ช้างมีอะไรอยู่จะได้รู้ว่าช้างกินอะไรมาบ้าง (น่าสนุกเนอะ) ผมเคยเจอนักศึกษาปริญญาโทด้านสัตว์ป่าที่ต้องตามรอยขี้ช้างอยู่เป็นปี เพราะแกทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ขี้ช้าง”
การศึกษาช้างป่าที่ต้องทำอีกอย่างนั่นคือ “นั่งห้าง”
ห้าง ก็คือเราต้องขึ้นไปสร้างที่นั่งบนต้นไม้ใหญ่...สูง...สูงพอที่ช้างจะตะเกียกตะกายลากคนนั่งลงมา “คุยด้วย” ไม่ได้เพื่ออำนวยความสะดวกและประหยัดทรัพยากร ห้างจึงสร้างง่าย ๆ โดยใช้ไม้ท่อนวางพาดบนกิ่งไม้ที่แข็งแรงรับน้ำหนักคน ๒-๓ คนได้ ใช้หลาย ๆ ท่อนยึดติดกันก็นั่งเฝ้า ถ่ายรูปได้แล้ว นั่งสัก ๑๐-๒๐ นาทีก็เพลินอยู่หรอก...อากาศบนยอดไม้ วิวจากที่สูงก็น่าจะบรมสุขหรอกนะ แต่นี่ต้องนั่งกัน..เป็น ๕-๖ ชั่วโมง คุณลองนั่งบนท่อนไม้ขนาดเล็ก ๆ นาน ๆ ดูเถิด จะรู้ว่าทรมานตดขนาดไหน!
ในป่ากุยบุรีจะมีห้างแบบนี้อยู่ทั่วไป เพื่อไว้ให้อาสาสมัครและนักวิจัยใช้นั่งเฝ้าศึกษาและบันทึกภาพช้างป่าอย่างใกล้ชิด พวกเขาเหล่านี้จึงปวดตูดและเหม็นเบื่อห้างที่ทำจากไม้ท่อน ยกเว้น...มีอยู่ ๑ ห้าง... ห้างนี้สร้างอยู่บนต้นไม้สูง กิ่งและใบรกครึ้ม ร่มเย็น มีบึงขนาดใหญ่อยู่ใกล้ ๆ และที่สำคัญห้างนี้ทำจาก ไม้กระดานแผ่นเดียว แต่กว้าง นั่งสบายตูด ดังนั้นคนทำงาน (เพื่อ) ช้างเหล่านี้จึงได้ขนานนามห้างนี้ว่า
“ห้างพารากอน”
หรูสุดแล้ว ทำจากกระดานแผ่นเดียว!
การงานอันหนักหนาสาหัสของคนทำงาน (เพื่อ) ช้าง คือ ต้องจัดการให้ช้างและสัตว์ป่าอื่น ๆ ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข นั่นคือต้องอนุรักษ์ผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างใหญ่พอรองรับการเดิน... กิน... ขี้... ปี้...นอนของเหล่าสรรพสัตว์ ช้างนั้นตัวใหญ่ กินจุ ต้องใช้พื้นที่ กว้างมาก ซึ่งตรงนี้แหละคือปัญหาหนักเพราะ...เราก็ต้องจัดการให้ คน พวก “ชาวบ้าน” และ คนผู้อยู่เบื้องหลังชาวบ้าน เช่น นายทุนเจ้าของก็ต้องอยู่ได้ด้วยเหมือนกัน
นี่แหละโจทย์ที่แสนสาหัสของโลกนี้ยากจริง ๆ คิดแล้วคันกบาลก็ได้แต่เกาหัวแกรก ๆ เกาจนหนังหัวถลอก เลือดซิบก็คิดไม่ออก ผมคิดไม่ออกก็เกาหัวนี่ไม่เท่าไหร่ เดี๋ยวก็กลับบ้านอยุธยา แต่ข้างฝ่ายช้างเล่า พวกมันต้อแงใช้ชีวิตอยู่ในป่านี้ ไม่มีที่อื่นให้ไปแล้ว คงกลุ้มน่าดู แล้วมันจะเกาหัวมันยังไงเนี่ย
“ผมไม่เคยเห็นช้างเกาหัว แต่เคยเห็นช้างเกาตูด!” คุณสุชินบอกผมอย่างขำ ๆ
“โอ้วว...ตื่นเต้ลลลล มันคงขี้บ่อยจนตูดระคายเคือง”
ผมประชดคุณสุชินไปอย่างนั้นเอง เพราะไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง ตอนคุยกันเรื่องนี้ เราลงจากรถแล้วออกเดินตามช้างดาวเด่นของที่นี่ “คุณตุ้ม” เป็นดาวเด่นเพราะเห็นตัวได้บ่อยมาก เวลาพาช่างภาพรายการสารคดีต่าง ๆ มาด้วย “คุณตุ้ม” มักเสนอหน้าออกมาเป็นดาราหน้ากล้อง
คุณสุชินพาผมเดินมาในป่าสักพัก ผมก็ได้เห็นเอ่อ...อะไรสักอย่างที่โผล่ขึ้นมาจากผิวดิน มีอยู่ทั่วบริเวณ มันน่าจะเป็นจอมปลอก รังปลอกแบบที่เราพบได้ตามสนามหญ้าหรือในป่าที่อื่นซึ่งจอมปลวกก็จะโผล่เหนือพื้นคล้าย ๆ กองดินมียอดแหลม แต่นี่เป็นกองดินที่ด้านบนมนกลมเรียบลื่นคล้าย “หอดูดาว” ขนาดกระเป๋า ทั่วผืนป่ากุยบุรี...จะพบ “หอดูดาว” เต็มไปหมด
“มันคือจอมปลวก มีปลวกอาศัยอยู่ แต่ที่นี่มันก็ได้กลายเป็น ‘ที่เกาตูดช้าง’ ด้วยครับ ช้างชอบเอาตูดมาถูแก้คันจนจอมปลวกทั้งหลายเรียบลื่นมนกลมอย่างนี้”
ตลอดเวลาที่คุณสุชินพาผมสำรวจป่ากุยบุรี...ผมก็ได้เห็นหอดูดาวขนาดกระเป๋าจอมปลวก...หรือที่เกาตูดช้างหลายสิบจุด แต่เชื่อว่าคงมีเป็นร้อยเป็นพันทั่วป่า แหม นี่ถ้าหากได้เห็นคุณช้างเขาปฏิบัติกิจนี้คงจะเป็นบุญตาน่าดู...แต่วันนี้แค่ได้เห็นอุปกรณ์ตามธรรมชาติและวิถีอยู่ร่วมกันก็ตื้นปีติแล้ว
มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับช้างที่ผมเข้าใจผิดมาตลอด เช่น ผมก็นึกว่าช้างพลายมีงาสง่างามนั้นจะเป็นพระเอก แข็งแกร่ง เก่งเลิศไม่กลัวใคร...ซึ่งกับสัตว์อื่น ๆ นั้นช้างไม่กลัวใครอยู่แล้วเพราะตัวใหญ่...หนังหนา...ทรงพลังวังชาและฉลาดลึกซึ้ง แต่กับช้างด้วยกัน ตัวเมียอาวุโส...มีอำนาจสูงสุด อันนี้ยกให้คุณนายไปเถิด แต่ตัวผู้ด้วยกัน ความจริงคือ ช้างพลายที่มีงา...กลับกลัวช้างสีดอที่ไม่มีงา เพราะช้างสีดอตัวใหญ่กว่า...แรงเยอะกว่า และที่ช้างพลายกลัวที่สุดนั่นคือ กลัวโดนช้างสีดอรวบ “หักงา” เรื่องอย่างนี้ผมเข้าใจผิดมานาน แต่ผู้ทำงานป่าอย่างคุณสุชินทราบดี...นักวิจัย...นักวิชาการ คุณเอก-วายุพงศ์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์ช้างป่า...หัวหน้าบุญลือ หัวหน้าอุทยานฯคนเหล่านี้ติดตามศึกษาช้างป่ามาหลายปี...แต่ไม่มีใครเข้าใจหรือรู้ทั้งหมด มีบางเรื่องของช้างป่าที่ยังคงเป็นปริศนาลึกลับไร้ร่องรอยดังเช่นเรื่องต่อไปนี้
“หากค่ำคืนใดในป่าอันเย็นยะเยือก มีเสียงร้องกึกก้องของช้างป่าให้ได้ยินต่อเนื่องกันเหมือนการขับขานรับกันจากช้างหลายตัวและตำแหน่งที่มาของเสียงมาจากบริเวณเดียวกันของป่า นั่นหมายความว่า ‘แม่ช้างกำลังตกลูก (คลอดลูก)’ ช้างป่ามากมายเหมือนได้รับเชิญให้มาร่วมแสดงความยินดี ต้อนรับการมาของสมาชิกใหม่ การส่งเสียงร้องก้องป่าจะเป็นไประยะเวลาหนึ่ง แต่จะไม่เกิน “ค่ำคืนเดียว” คืนหรือวันเกิดของช้างน้อยแห่งกุยบุรี...แต่ก็ยังไม่มีมนุษย์ผู้ใดได้เห็นภาพมหัศจรรย์นี้กับตาตัวเอง นักวิจัย นักวิชาการ คนทำงานป่าไม้ ต่างก็พยายามตามแหล่งกำเนิดเสียงร้องอย่างเต็มความสามารถ ได้เพียงเห็นร่องรอยสภาพร่องรอยสภาพผืนป่ากลายเป็นลานโล่ง มีเศษกิ่งไม้ใบหญ้าระเกะระกะเหมือนงานฉลองเพิ่งเลิกรา
“แต่พวกเราคนทำงานอนุรักษ์ช้าง แม้ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานฉลอง...เราก็อิ่มใจแล้วที่ได้รู้ว่าช้างป่าอีกตัวหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาในป่ากุยบุรี”
คุณสุชินยิ้มแก้มตุ่ยอย่างมีความสุขเมื่อถ่ายทอดเรื่อง “งานต้อนรับสมาชิกใหม่ของช้างป่า” ให้ผมฟัง
เมื่อมีสุขก็ย่อมมีทุกข์ เพราะหากในวันอันร้อนระอุมีเสียงกึกก้องโหยหวนของช้างป่าส่งรับกัน “หลายตัว” และการส่งเสียงนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง “หลายวัน” พวกนักอนุรักษ์ช้างก็จะทราบทันทีว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับช้างป่าผู้โชคร้ายแล้ว
“เมื่อเราตามแหล่งกำเนิดเสียงไปจนพบตำแหน่ง...เราจะพบลานโล่งลักษณะเดียวกับกรณีที่ช้างป่ามาชุมนุมต้อนรับการเกิดใหม่ แต่หากเสียงร้องคร่ำครวญหลายวันนั้นมาจากการอาลัยต่อการจากไปของเพื่อนช้างป่าที่ ‘ถูกฆ่า’ เราจะได้พบซากช้างป่าหมดลมหายใจ มีรอยบาดแผลจากการถูกยิง หรือไม่ก็ถูกวางยาพิษ...หากคุณไม่เคยมีประสบการณ์ตรง เห็นช้างตาย คุณจะไม่รู้หนรอกว่ามันน่าเวทนาเพียงใด”
คุณสุชินเล่าต่อด้วยสีหน้าเรียบ ๆ ว่า
“มันเหมือนพวกเขามาชุมนุมอาลัยเพื่อนช้างและส่งเสียง ‘ฟ้อง’ ต่อมนุษย์โลกที่โหดร้าย ไฉนทำกันได้ถึงเพียงนี้
เป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก...เนื้อที่ป่ากุยบุรี ๖๐๐,๐๐๐ ไร่ (หกแสนไร่) แม้กว้างใหญ่ แต่มากกว่าสิบปีที่พวกเราทำงานอนุรักษ์ป่ามา นั่นหมายความว่าเราสำรวจแล้วแทบจะทุกตารางนิ้วของผืนป่าเชื่อไหมครับ เราไม่เคยพบร่างไร้วิญญาณของช้างป่าที่ตายเองตามธรรมชาติ ตามอายุขัยของเขา...หากพบซากช้างป่าตายรู้ได้ทันทีว่า ‘ถูกฆ่า’”
คุณเอก-วายุพงศ์บอกเล่าเรื่องนี้กับผมตั้งแต่เมื่อครั้งที่เจอกันครั้งแรกในงาน “ช้างไทย” เมื่อปีที่แล้ว แต่วันนี้ผมมาอยู่กลางป่ากุยบุรี ช้างป่ามากมายเดินหากินกันเป็นกลุ่ม เป็นครอบครัว ทั้งลูกเล็กที่ซุกซนอยากรู้อยากเห็นแต่ขี้กลัว ตกใจง่าย ช้างวัยรุ่นที่แข็งแกร่งและทั้งแม่ปะแหรกอาวุโส หัวหน้าฝูงผู้ทรงภูมิปัญญา พวกเขาอยู่กันอย่างสดชื่น เบิกบาน แววตาสดใส...ใช่...พวกเขาอยู่ไม่ห่างผมจนผมสามารถมองเห็นแววตา “ช้างป่า” ความใกล้เยี่ยงนี้ทำให้ผมมีความรู้สึกลึกล้ำอย่างมากถึงความลับของช้างป่า
“เรารู้เรื่องช้างป่าไม่น้อย...ศึกษาเรื่องขี้ช้างอย่างเดียวก็เป็นปี ๆ รู้แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร โป่ง...
แต่เราก็ไม่เคยรู้อะไรเลยเกี่ยวกับการตายตามลักษณะทางธรรมชาติของช้าง”
ตำนานเรื่อง “สุสานช้างป่า” จึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นเป็นเรื่องเล่าของชาวบ้านป่ามาแต่ครั้งโบราณว่า ช้างป่านั้นเมื่อถึงเวลาอันสมควร เวลาแห่งการละสังขาร ประหนึ่งว่าชีวิตของช้างป่านั้นเข้าถึงความจริงของโลก...เกิด แก่ เจ็บ ตาย ดังกับว่าช้างป่านั้นรู้เท่าทันความเป็นปัจจุบันขณะทุกลมหายใจ หากเมื่อเวลาใกล้เข้ามา ช้างป่าจะมุ่งหน้าไปยังจุดสุดท้ายของชีวิตบนโลกในผืนป่านี้ ณ ที่นั้นคือ “สุสานช้าง” ซึ่งสถิตอยู่อย่างลี้ลับ...มนุษย์มิอาจเข้าถึง
สุสานช้างป่าจึงไม่มีอยู่หรือไม่อาจไปถึง หากชีวิตนั้นยังไม่เข้าใจถึงแก่นแท้มนุษย์ซึ่งยึดติดอยู่กับโลภ โกรธ หลง จึงสัมผัสสุสานช้างได้เพียงแค่เรื่องเล่าหรือจินตนาการ...
สุสานช้างป่าจึงเป็นมิติที่เข้าไปได้เฉพาะช้างป่าที่ชีวิตของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอย่างแท้จริง กลมกลืน และเป็นหนึ่งเดียว...มนุษย์จึงทำและเป็นได้เพียง...ผู้สงสัย...เท่านั้น
มาโนช พุฒตาล
ข้อมูลจาก: นิตยสารคู่สร้างคู่สม ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๗๐๕ ทศ ๓ ประจำวันที่ ๒๐-๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ หน้า ๔๖-๔๙
ธรรมชาติมีความสำคัญต่อมนุษย์ฉันใด สัตว์ป่าและช้างป่าก็มีความสำคัญต่อธรรมชาติและผืนป่าฉันนั้น เพราะสัตว์ป่าและช้างป่ามีพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์และสร้างความสมดุล มั่นคงต่อระบบนิเวศ อีกทั้งยังเกื้อกูลต่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
สารคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่ผู้เขียนถ่ายทอดขึ้นจากประสบการณ์จริงที่ได้เดินทางไปสัมผัสและเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของช้างป่า ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นสารคดีที่มีการตั้งชื่อเรื่องได้อย่างเหมาะสม ใช้คำ ง่าย ๆ ชวนให้ติดตาม และตรงกับประเด็นสำคัญของเรื่อง มีความน่าสนใจทั้งในด้านเนื้อหาสาระที่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นเรื่องจริงของช้างป่าที่อาศัยอยู่ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ในด้านการใช้ภาษาผู้เขียนได้เลือกใช้ภาษาแบบกึ่งทางการ ซึ่งบางช่วงของงานเขียนก็มีการใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ หรือภาษาปากบ้าง มีการใช้คำและประโยคที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา เป็นกันเอง เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเป็นการเพิ่มอรรถรสทางการอ่าน ส่วนในด้านลีลาการเขียนนั้นได้มีการแสดงอารมณ์และความรู้สึกอย่างเปิดเผย คือ มีวิธีการเขียนที่เน้นอารมณ์ ความรู้สึกแฝงไปด้วยข้อคิดเห็นที่ค่อนข้างชัดเจน ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ ความรู้สึกคล้อยตาม บางช่วงก็เขียนโดยการแทรกความสนุก ขบขัน เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และสร้างรอยยิ้มได้
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มรสชาติให้กับงานเขียนโดยการใช้โวหารหลากหลายรูปแบบ ทั้งการใช้การบรรยายโวหารในการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับขั้นของเรื่อง การใช้อธิบายโวหาร เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและเห็นภาพที่ชัดเจน และมีการแทรกข้อคิดที่สร้างความประทับใจ
นางสาวนิพา จันทร์ดารา รหัสนักศึกษา ๕๒๑๑๒๕๒๐๐๒๘
ชอบมากเลยคะ อ่านไปบ้างตอนก็มีมุมตลกดีคะ 55
ตอบลบ