วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

งานเขียนสารคดีท่องเที่ยววัดมหาบุศย์

สู่เส้นทาง...... ตำนานแห่งรัก ณ วัดมหาบุศย์


           
   วัดมหาบุศย์ ถ้าบางท่านได้ยินชื่อคงแปลกใจว่าวัดนี้มีอะไรพิเศษ หากบอกว่าเป็นวัดที่ฝังร่างของแม่นาค หรือนางนาคพระโขนง นางที่ยึดมั่นในความรักแม้ตัวเองจะไร้ชีวิต ไร้ร่างกาย แต่เหลือเพียงจิตวิญญาณที่มากล้นด้วยความรัก เล่าขานเป็นตำนานมาตราบจนทุกวันนี้ ครั้งนี้ขอพาเที่ยววัดมหาบุศย์พร้อมเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานความรักของแม่นาคพระโขนง            
          วัดมหาบุศย์ ตามประวัติที่ได้สืบค้น เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. ๒๓๐๕ ก่อนเสียกรุงเก่าเพียง ๕ ปี เล่ากันว่าเดิมชื่อวัดสามบุตร กล่าวคือบุตรชายสามคนพี่น้องได้สร้างขึ้น และเข้าใจว่าเสนาสนะสิ่งก่อสร้างในวัดในขณะนั้นคงจะเป็นไม้เสียเป็นส่วนมาก ซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่คงทนถาวร ครั้นกาลต่อมาจึงมีสภาพเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อพระมหาบุตร เปรียญ ๕ ประโยค สำนักวัดเลียบ ได้มาเยี่ยมญาติโยมซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในริมคลองพระโขนง ในเวลานั้นบรรดาชาวบ้านพระโขนงจึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ให้ท่านอยู่วัดสามบุตร เพื่อเป็นผู้นำในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเรียบร้อย ชาวบ้านจึงเปลี่ยนนามใหม่จากวัดสามบุตร เป็นวัดมหาบุตร ตามนามของพระมหาบุตร ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของภาษาไทย จึงได้เขียนชื่อเป็นทางราชการว่า วัดมหาบุศย์ดังที่เห็นและใช้ตราบจนทุกวันนี้                                                     
        ตามประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ฉบับกรมการศาสนาจัดพิมพ์ ตอนหนึ่งว่า วัดมหาบุศย์มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์อยู่หลายปี ตราบถึงประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๕ ต้นรัชกาลที่ ๖ จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙”


สิ่งแรกที่พวกเราได้ทำคือเดินไปซื้อดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระที่ทางวัดจัดเจ้าหน้าที่คอยบริการให้ทำบุญทำไหร่ก็ได้ตามกำลังทรัพย์ พอได้ชุดไหว้พระคนละชุดแล้วก็เข้าไปในวิหารหลวงพ่อยิ้มลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ผู้ที่สักการะหลวงพ่อยิ้มส่วนใหญ่มักจะเสี่ยงเสียมซีไปพร้อมๆกันด้วย  ก็เลยเข้าทางของพวกเราเสี่ยงเซียมซีกันยกใหญ่ พอผลทำนายออกมามีทั้งได้ดีและก็ได้ไม่สมใจนึก

 ถัดจากวิหารหลวงพ่อยิ้มไปเป็น อุทยานพระโพธิสัตว์กวนอิมระหว่างทางก็เห็นกบน้อยอยู่ใต้กอบัวในอ่างน้อยสายตาน่ารักแจ่มใส พวกมันคงจะรอเจ้าชายจากแดนไกลเพื่อจุมพิตให้กลายเป็นคนก็ได้ภายในประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ตั้งอยู่กลางแจ้งแต่มากด้วยร่มไม้ทำให้ดูร่มรื่นสบายตา พวกเราแวะไหว้เจ้าแม่ พร้อมมีบทนมัสการบทบูชาเจ้าแม่กวนอิมที่แปะอยู่ตรงหน้า หลังจากพยายามอ่านบทบูชาอยู่นานสองนาน แต่เพราะภาษาเป็นภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาจีน จึงต้องผันวรรณยุกต์ ตัวสะกดกันซึ่งไม่รู้ว่าถูกต้องหรือเปล่า หรือถ้าขืนท่องไปผิดหลักไวยากรณ์ที่แท้จริง เจ้าแม่กวนอิมท่านได้ฟังเข้าแล้ว อาจทำให้ท่านปวดหัวได้ หรือถ้าพวกเรามัวท่องโดยการพยายามรั้นให้ถูกต้องคงจะเป็นลมจนลิ้นพันกันแน่ ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเราคือยกมือไหว้แล้วอธิษฐานขอพรนับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และบริเวณนั้นยังมีอ่างปลาที่มีหมู่มัจฉาที่ตัวค่อนข้างใหญ่แต่ช่างไม่เป็นคู่สร้างคู่สมกับอ่างใบน้อยนี้เลย นี่ถ้าหาก “มีนานุช” นางเอกจากเรื่องรักนี้หัวใจมีคลีบได้เห็นเข้าคงมิต้องโวยวายรีบเอาไปปล่อยเป็นแน่ รวมทั้งเต่าตัวน้อยอีกหลายตัวที่มาพักร้อนอาบแสงแดดฉาบผิวรับยูวีกันขอบอ่าง ดูดูไปแล้วน่าสงสารมากกว่าน่าเอ็นดู



จากนั้นพวกเราก็ไปหยุดยังหน้าโบสถ์ แต่ไม่สามารถจะย้ายกายเข้าไปด้านในได้ เนื่องจากทางวัดไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้า จะเปิดก็แต่เมื่อเวลาพระท่านทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เท่านั้น พวกเราก็ได้แต่ยืนพนมมือสาธุและชักภาพเอาไว้เป็นไดอารี่ของความทรงจำ อยู่ข้างนอกประตูโบสถ์ เพราะพวกเรายึดถือว่า ไหว้พระอยู่ที่ใจ อยู่ที่ไหนๆ ก็ไหว้ได้ อีกประการขี้เกียจนั่นเอง แต่ถ้าให้ดีเข้าไปนั่งสงบจิตสงบใจอยู่ในวัดก็จะทำให้จิตเราสงบและมีสมาธิมากขึ้น สาธุ สาธุ...
แต่จุดมุ่งหมายที่พวกเราสหายทั้งหกคนได้มาเยี่ยมเยือนวัดมหาบุศย์ในครั้งนี้ บางท่านอาจคิดว่าวัดมหาบุศย์มีอันใดหรือสิ่งใดที่น่าสนใจ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเป็นวัดที่เล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นวัดที่ฝังร่างของนางนาค หรือคนแถวนี้เรียกกันว่าย่านาค หรืออีกชื่อที่คนไทยรู้จักกันดีผ่านจอแก้วและจอเงินหลายเวอร์ชั่นคือ แม่นาคพระโขนง อ๋อ อ๋อ...บอกอย่างนี้แต่ที่แรกก็จบก็เล่าให้มันยืดยาวซะงั้น

ศาลย่านาคตั้งอยู่ริมน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งมี ศาลย่านาคตั้งอยู่ เมื่อพวกเราเข้ามาถึงเห็นผู้คนมากมายมาจุดธูปจุดเทียนขอพรจากย่านาค ส่วนมากจะเป็นคู่ชายหญิงที่หวังมาขอพรให้รักนั้นสมหวัง ศาลย่านาคนั้นเป็นศาลที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากนัก ภายในตัวศาลค่อนข้างเงียบและสะอาดตาเพราะมีเจ้าหน้าที่ค่อยดูแลเป็นอย่างดี แต่ก็รับรู้ได้ถึงความขลัง ที่หากกล่าวโดยตรงแล้วน่าขนลุก  พวกเราก้าวเข้าไปแต่ต้องปฏิบัติตามกฎของที่นี่ที่มีค่อนข้างเยอะจนกลายเป็นความเกร็งไปเช่นห้ามถ่ายรูป ห้ามเสียงดัง วิธีการไหว้ และอีกมากมาย การบูชาย่านาคนั้นใช้ธูปสองดอกในการบูชา ดอกไม้ พวงมาลัย แผ่นทองคำเปลวอย่างละหนึ่ง เข้าไปไหว้โดยสังเกตจากคนก่อนที่เข้าไปเพื่อจะได้ไม่ต้องมาตั้งร้านขายขี้หน้าแถววัดนี้

แม่นาคพระโขนง นั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีสามีภรรยาที่รักกันมากคู่หนึ่งอาศัยอยู่ริมคลองวัดมหาบุศย์เขตพระโขนง ภรรยาชื่อนาค สามีชื่อทิดมาก ทั้งคู่ปลูกเรือนหลังเล็กๆ อยู่ห่างไกลจากผู้คนมาพอสมควร เมื่ออยู่กันได้ไม่นานนางนาคก็ตั้งท้องขณะที่บ้านเมืองกำลังเกิดศึกสงคราม ทิดมากจึงถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นทหาร และต้องออกรบยังต่างเมือง ไม่นานนางนาคก็คลอดลูกกับหมอตำแยโดยทิดมากไม่ได้อยู่ดูแล โชคร้ายที่นางนาคเจ็บท้องจนทนไม่ไหวจึงสิ้นใจตายพร้อมลูกในท้องในเวลาต่อมา แต่ด้วยความรักที่มีต่อผัวจึงไม่ยอมไปผุดไปเกิด และรอวันที่ผัวจะกลับมา ระหว่างนั้นก็เที่ยวหลอกหลอนชาวบ้านจนหวาดกลัวไปทั่ว                                      


วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทิดมากกลับมาในเวลาพลบค่ำแต่ก็ยังพอเห็นทางเดินแบบลางๆ เนื่องจากเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง เมื่อถึงบ้านก็เห็นแม่นาคนั่งร้องเพลงกล่อมลูกอยู่ที่เรือนชานก็รู้สึกดีใจรีบวิ่งไปหาลูกเมีย แต่ต้องสะดุ้งสุดตัวที่ร่างกายนางนาคเย็นผิดปกติ ก็ไม่ได้สงสัยอะไรมากนัก ระหว่างนั้นแม่นาคก็จัดแจงยกสำรับกับข้าวออกมาให้ผัวกินและก็บังเอิญที่ทิดมากทำช้อนตกลงพื้นเรือนแม่นาคจึงเอื้อมมือไปเก็บอย่างรวดเร็วทำให้ทิดมากรู้สึกแปลกใจ ต่อมาชาวบ้านก็แอบกระซิบบอกทิดมากว่านางนาคได้ตายไปนานแล้วและตายทั้งกลมด้วย ที่พ่อมากเห็นแม่นาคอุ้มลูกน้อยนั้นนะเป็นผี ไม่ไช่คน ประกอบกับตนเองก็เห็นพฤติกรรมแปลกๆอยู่หลายครั้ง จึงตัดสินใจหนีไปอาศัยอยู่ที่วัดมหาบุศย์ ทำให้นางนาคต้องออกติดตามหาผัว พร้อมกับเที่ยวหลอกหลอนชาวบ้านด้วยความโกรธแค้น จนไม่มีใครกล้าเดินผ่านวัด สร้างความเดือดร้อนเดือดร้อนไปทั่ว ต่อมาชาวบ้านได้ไปตามหมอผีมาปราบ และจับวิญญาณแม่นาคใส่หม้อดินไปถ่วงน้ำ พร้อมกับอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณไปผุดไปเกิด ไม่ต้องมาวนเวียนหลอกหลอนชาวบ้านอีกต่อไป”
นี่เป็นเพียงหนึ่งในตำนานแม่นาคพระโขนงที่เล่าสืบต่อๆ กันมา ส่วนจะเป็นจริงหรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ และใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ที่ตำนานแม่นาคพระโขนงคงความอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ได้ นอกจากเรื่องชวนขนหัวลุกแล้ว ตำนานแห่งความรักที่มั่นคงของแม่นาคต่อทิดมากนั้นถือเป็นหนึ่งในตำนานรักอมตะของเมืองไทยที่น่าเทิดทูนยกย่องเป็นอย่างยิ่ง
...ความตายแม้จะเป็นตัวกำหนดให้พรากจากทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ความรักของแม่นาคนั้นยังไม่มีสิ่งใดมาพรากไปแม้แตความตายก็ตาม...
 หลังจากที่พวกเราทั้ง ๖ ได้สักการะบูชาแม่นาค ผู้ที่มีความรักติดกายจนชีวิตหาไม่แล้ว พวกเราขอพรกันตามที่หวังไว้ และก็จรลีกันออกมา ภายนอกศาลยังมีร้านขายปลาเพื่อเอาไว้ให้ผู้ใจบุญได้ปล่อยเป็นทานบารมี แต่พวกเราก็มิได้ซื้อเพียงแต่เดินกันไปที่ท่าน้ำ พอทอดตามองเห็นคลองพระโขนงนึกรำพึงรำพันอยู่ในใจ น้ำใสไหลเย็นมันไหลไปทางไหนเสียหมด มีเพียงน้ำที่หมดสิ้นแล้วความสะอาด แต่ยังมีหมู่ปลาสวายที่โผล่หัวมาคอยรับอาหาร หรือพวกมันมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ให้หยุดทำลายบ้านของพวกมันเสียที พอเสร็จธุระตรงนั้นก็ได้ยุติการเที่ยวไว้แต่เพียงเท่านี้ เตรียมเดินทางกลับกัน หวังว่าวันหน้าฟ้าใหม่จะได้กลับมาเยี่ยมเยือนอนุสรณ์ของความรักที่ไม่มีวันตายครั้งนี้อีก



รักนี้...ไม่มีวันตาย


แม่นาคพระโขนงคนไทยกว่าค่อนประเทศคงเคยได้ยินชื่อนี้ เป็นชื่อที่กล่าวขานถึงตำนานแห่งความรัก ความเฮี้ยน และความน่าสะพรึงกลัว นางนาคหรือแม่นาคผู้ที่มีอดีตในเรื่องความรักที่มั่นคง การเฝ้ารอคอยให้ได้มาความรักแม้ตัวตนจะสิ้นชีพไปแล้วก็ตาม แต่หากวิญญาณยังคงมีความห่วงหาอาวรณ์เพื่อสิ่งที่เรียกว่าความรักคำเดียวเท่านั้น และวลีที่ชื่อว่า "พี่มากขา..." วลีนี้ถูกนำมาสร้างสรรคืผ่านจอแก้วและจอเงินมาหลายสมัย การได้มาในละครไทยที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริง “แม่นาค” ถ้าฟังเพียงผ่าน ฟังเพียงเพื่อเพลิดเพลินก็จะเป็นเพียงแค่คำๆหนึ่งที่ผ่านเข้าหูและก็ผ่านเลยไปไม่มีอะไรกระทบความรู้สึก แต่ถ้าหยุดแล้วพิจารณา ตีความในน้ำเสียง คำๆนี้ใช่คำที่แสดงถึงความเจ็บปวดหรือไม่ ใช่ความทรมานที่เกิดจากความรักที่ไม่สามารถสมหวังใช่หรือไม่ น้ำเสียงที่แสดงถึงความปวดปล่าของหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งมั่นคงในรัก หญิงสาวที่เฝ้ารอการกลับมาของชายอันเป็นที่รักจนวันสุดท้ายของลมหายใจ แม้ในวันที่เหลือเพียงแค่วิญญาณเธอก็เลือกที่จะรับความทรมานเพื่อที่จะ “รอ” ชายคนรักกลับมา จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่า การรอคอยและความทรมานของหญิงสาวที่มั่นคงในรักผู้นี้จะสิ้นสุดลงหรือยัง


แม่นาคพระโขนง หรือ แม่นาค เรื่องราวความรักของสามี ภรรยาคู่หนึ่ง อาศัยอยู่กินด้วยกันที่ย่านพระโขนง ฝ่ายสามีชื่อนายมาก ส่วนภรรยาชื่อนางนาค ทั้งสองอยู่กินกันจนนางนาคตั้งครรภ์อ่อน ๆ นายมากก็มีเหตุจำเป็นให้ต้องไปเป็นทหารประจำการณ์ที่บางกอกตามหมายเรียก นางนาคจึงต้องอยู่เพียงคนเดียวตามลำพัง จนครบกำหนดคลอดแต่นางโชคร้าย สิ้นใจไปพร้อมกับลูกในท้อง กลายเป็นผีตายทั้งกลม
หลังจากนั้น ศพของนางนาคได้ถูกนำไปฝังไว้ยังป่าช้าท้ายวัดมหาบุศย์ ส่วนนายมากเมื่อปลดประจำการก็กลับจากบางกอกมายังพระโขนงโดยที่ยังไม่ทราบความว่าเมียของตัวได้หาชีวิตไม่แล้ว ไม่ว่าใครที่มาพบเจอนายมากจะบอกนายมากอย่างไร นายมากก็ไม่เชื่อว่าเมียตัวเองตายไปแล้ว จนวันหนึ่งขณะที่นางนาคตำน้ำพริกอยู่บนบ้าน นางนาคทำมะนาวตกลงไปใต้ถุนบ้าน ด้วยความรีบร้อน นางจึงเอื้อมมือยาวลงมาจากร่องบนพื้นเรือนเพื่อเก็บมะนาวที่อยู่ใต้ถุนบ้าน นายมากขณะนั้น บังเอิญผ่านมาเห็นพอดี จึงปักใจเชื่ออย่างเต็มร้อย ว่าเมียตัวเองเป็นผีตามที่ชาวบ้านว่ากัน
ตำนานรักของนางนาค นับเป็นตำนานรักอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจผู้คนทั่วไปอย่างมิรู้คลาย กับความรักที่มั่นคงของนางนาคที่มีต่อสามี แม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางไปได้
ด้วยเหตุนี้กระมังจึงเป็นที่มา ของการเดินทางไป “ขอพร” ของบุคคลบางกลุ่มที่มีความเชื่อและมั่นคงในรัก ทั้งรักที่สมหวัง รักที่ผิดหวัง ตลอดจนรักที่รอคอย เพียงเพราะหวังที่จะสมหวังในรัก เพียงหวังว่า แม่นาคจะเมตตาช่วยเหลือ เพราะ “ความเชื่อ” กับ “คนไทย” นั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาช้านาน    


การบูชาย่านาค มีหลายรูปแบบ เช่นอาจซื้อผ้าเจ็ดสีเจ็ดศอกมาพันรอบต้นไม้ บางคนก็ซื้อของไหว้เช่นชุดไทย สำหรับย่านาค หรือชุดเด็กและของเล่นเด็กสำหรับลูกย่านาค (ที่ตายทั้งกลม) หรือบางคนก็เอารูปวาดที่จินตนาการว่าเป็นย่านาคมามอบให้ ซึ่งรูปแบบการบูชาย่านาคนี้ ก็อาจแตกต่างไปจากที่อื่นๆ และที่แปลกก็คือมีคนซื้อโทรทัศน์จอใหญ่มาเปิดให้ย่านาคดูด้วย ย่านาคมีรถกระบะ มีมอเตอร์ไซค์เป็นของตนเองด้วยเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อแต่ก็เป็นไปแล้วและย่าคงเป็นผู้หญิงที่มีชุดไทยมากที่สุด ความเชื่อ ความชอบ ในสิ่งเหล่านี้หลายคนอาจเห็นเป็นเรื่องแปลก บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ เป็นเรื่องของคนสิ้นหวังขาดที่พึ่งแต่เรื่องนี้คงไปว่าใครไม่ได้ ทุกคนมีเหตุผล มีความเชื่อเป็นการส่วนตัว และเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน


 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ บุคคลที่เดินทางไปขอพร ที่บ้างก็สมหวัง บ้างก็ผิดหวัง ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่เหตุผลส่วนหนึ่งของการกระทำก็เพียงเพราะ “หวัง” ให้เป็นที่พึ่งทางใจ ไหว้เพื่อความสบายใจ ไหว้เพื่อคลายทุกข์ใจ โดยที่ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยว่า “ผล” ของการไหว้จะเป็นอย่างไร
ตราบใดที่สังคมไทยยังมีความเชื่อ ยังมีสิ่งที่เคารพสักการะ มนุษย์ทุกคนก็มีสิทธิที่จะเชื่อ มีสิทธิที่จะหวัง ความเชื่อในการขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องที่มีผลต่อจิตใจ เป็นที่พึ่งทางใจ บุคคลที่ไม่เชื่อก็มักมองว่าเป็นความงมงาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกสิ่งทุกอย่างมีผลมาจากการกระทำเป็นสำคัญ เพียงแค่คิดดีและทำดี ผลจากการกระทำก็จะทำให้ชีวิตเราเจอแต่สิ่งที่ดี ๆ เป็นการตอบแทนเช่นกัน



1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 กรกฎาคม 2555 เวลา 12:31

    ส่งงานชิ้นที่2 สารคดีท่องเที่ยว

    ตอบลบ

ความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ